น้ำยาของปรัชญา

ณ เวลาที่เขียนอักษรเหล่านี้ลงบนบลอก ในฐานะคนบางกอกน้อยก็กำลังรอต้อนรับมวลน้ำที่เตรียมเข้าไหลท่วมในส่วนกรุงเทพฝั่งตะวันตก แต่ถ้าจะให้รอเฉยๆ โดยไร้กิจกรรมก็ย่อมทำให้เกิดความเบื่อหน่ายเกินไป ในภาวะเช่นนี้จึงเกิดคำถามหนึ่งแทรกซ้อนเข้ามาในความคิดของข้าพเจ้าว่า

วิชาปรัชญาแก้ปัญหาเรื่องการบริหารน้ำท่วมได้หรือไม่

ขนบของการศึกษาปรัชญาในอเมริกา ที่ดูจะโดดเด่นก็คงเป็นเรื่องที่ว่า ผู้สอนมักนำเหตุการณ์จริงขึ้นมาอภิปรายเช่น ระหว่างหน้าที่ส่วนตัวในฐานะคนในครอบครัว กับหน้าที่สาธารณะในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพ หน้าที่ใดสำคัญกว่ากับเมื่อเกิดความขัดแย้งกัน หรือ การรับนักศึกษาโดยให้น้ำหนักกับความเป็นพลเมืองประเทศโลกที่สาม คนผิวสี เป็นเรื่องควรทำหรือไม่

ปรัชญาในสายตาของเขา ดูเหมือนเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาในแง่ทึ่ว่า ช่วยทำให้ทางเลือกดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

แต่นั่นเป็นหน้าที่ของปรัชญาจริงหรือไม่ ถ้าลองเปลี่ยนเป็นปัญหาที่กระชั้นชิดยิ่งขึ้นเช่น มีเชื้อโรคกำลังแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วจากยุโรปมาสู่เอเชีย หรือ น้ำกำลังท่วมเขตชั้นในของกรุงเทพในอีก 4 ชั่วโมงเช่นนี้ ปรัชญายังให้คำตอบได้อยู่หรือไม่

คำตอบของปัญหาการบริหารน้ำในกรุงเทพที่ผุดขึ้นมาขณะนี้ก็มีหลายทางเลือก เช่น หากเปิดทางระบายน้ำให้น้ำไหลลงเข้ากรุงเทพชั้นในแล้วทำให้ระดับน้ำในปริมณฑลลดลง ก็ควรทำ แต่ถ้ากลับกลายเป็นว่าแม้จะเปิดทางน้ำเหล่านั้น ก็ไม่ทำให้น้ำรอบนอกลดลง ทั้งยังทำให้ศูนย์กลางการแพทย์ การให้ความช่วยเหลือหายไปจนไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์ได้ เช่นนี้ก็ต้องถือว่าการเปิดทางน้ำนั้นไม่ควรทำ

แต่ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกแบบไหน ก็จะเห็นได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ปรัชญาเข้ามาเกี่ยวข้อง ความรู้ที่ใช้ควรเป็นเรื่องการบริหารสาธารณภัย การแพทย์ และอะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่ปรัชญา

ความแตกต่างระหว่างสองเหตุการณ์นี้คืออะไร เช่นนี้แปลว่าปรัชญาไม่มีประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงใช่หรือไม่

ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่น่าจะใช่ ปรัชญายังสามารถแก้ไขปัญหาจริงในโลกได้ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขว่าปัญหานั้นเป็นการถกเถียงในระดับวัตถุประสงค์ แนวคิดพื้นฐาน เช่นเรากำลังสงสัยว่าการความหลากหลายทางสังคมในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่มีคุณค่าเพียงใด การรับรู้ ความเข้าใจในความรู้มีความหมายว่าอย่างไร

แต่หากปัญหาเป็นเรื่องที่มีวัตถุประสงค์ และแนวคิดพื้นฐานชัดเจนแน่นอนแล้ว เช่น การบริหารน้ำต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน การแก้ไขปัญหาดาวหางชนโลกต้องคำถึงความปลอดภัยทางจักรวาลของโลก เช่นนี้ปรัชญาควรต้องถูกพักไว้ก่อน และปล่อยให้ความรู้อื่นที่ช่วยให้เป้าประสงค์นั้นเป็นจริงเข้ามาทำหน้าที่ เว้นเสียแต่ในเวลาคับขัน อยู่ดีๆ ก็เกิดคำถามว่าชีวิตมนุษย์สมควรได้รับการปกป้องหรือไม่ โลกควรมีอยู่จริงหรือไม่ ประโยชน์ของปรัชญาก็น่าจะปรากฎขึ้น

ยังมีสำนักความคิดอีกายแห่งที่เชื่อว่าปรัชญาไม่มีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา แต่ช่วยหาคำนิยามต่อแนวคิดต่างๆ หาปัญหาอยู่เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งข้าพเจ้ายังหาข้ออธิบาย โต้แย้งให้กับความคิดนี้ไม่ได้ในขณะนี้



ใส่ความเห็น