ปัญหาของความจริงใจ

“คุณเคยนอนกับโสเภณีหรือไม่”

“คุณไม่อยากมีลูกกับภรรยา เพราะไม่คิดว่าจะอยู่กับเขาตลอดไปใช่หรือเปล่า”

“คุณอยากร่วมเพศกับหัวหน้างานหรือไม่”

หากถูกถามแบบนี้ที่บ้านหรือที่รโหฐานอื่นใด การตอบให้จริงใจก็คงทำได้โดยง่าย แต่ถ้าเป็นการถามในรายการโทรทัศน์ที่มีผู้ชมกว่า 20 ล้านคนโดยเฉลี่ย พร้อมกับมีบรรดาญาติโกโหติกานั่งฟังคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้อย่างพร้อมเพรียง โดยมีเครื่องจับเท็จไฟฟ้าคอยวัดความจริงใจอยู่ทุกวินาที การตอบคำถามนี้ก็คงจะทำได้ยากขึ้น ความยากที่มาจากความหวาดกลัวต่อการทำลายความสัมพันธ์กับคนรอบข้างนี่เอง ที่นำมาเป็นแนวคิดหลักของเกมเรียลลิตี้โชว์สัญชาติอเมริกา “The Moment of Truth” ที่จะนำผู้แข่งทางบ้านมาตอบคำถามน่าบัดสีต่อหน้าญาติๆ และบรรดาผู้ใคร่รู้ใคร่เห็นที่เกาะติดหน้าจอทีวี คำตอบที่จริงใจจะทำให้ได้รับเงินรางวัล แต่ถ้าเผลอตอบคำถามต่อๆ ไปแบบไม่จริงใจ (วัดจากเครื่องตรวจจับเท็จ) ก็จะทำให้เงินรางวัลที่สะสมมาสูญหายไป

ปัญหาแรกที่ข้าพเจ้าอยากหยิบยกมาอภิปรายคือประเด็นที่ว่า รายการแบบนี้จะทำให้สังคมนั้นๆ ล่มสลายทางจริยธรรมหรือไม่ ประเด็นนี้ข้าพเจ้าไม่ได้คิดเอง แต่ถูกยกโดยสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอินเดียจากพรรคสายสังคมนิยมประชาธิปไตย Kamal Akhtar วิพากษ์วิจารณ์รายการ The Moment of Truth เวอร์ชั่นอินเดียว่าคำถามที่ถามในรายการไม่เหมาะสมที่จะออกอากาศ โดยเอาเรื่องนี้ไปพูดถึงในสภาอินเดีย

ไม่ว่าจะถือว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้าย เรื่องการระงับการเผยแพร่รายการนี้ขึ้นสู่ศาลสูงสุดของอินเดีย ศาลของอินเดียเกริ่นนำคำตัดสินด้วยการแยกจริยธรรมออกเป็นสองประเภทคือ 1) จริยธรรมมวลชน (popular morality) ซึ่งศาลมองว่าจะแปรผันไปตามความรู้สึกของแต่ละคน และ 2) จริยธรรมในรัฐธรรมนูญ (constitutional morality) ที่จะมาจากคุณค่าในมุมมองของตัวบทรัฐธรรมนูญ ดังนั้นก็เริ่มตัดสินถัดไปว่า ประเด็นที่ว่าการถามเรื่องส่วนตัวในรายการทีวีจะผิดจริยธรรมหรือไม่นั้น มองว่าแม้จะมีประชาชนกลุ่มมากที่มองว่าไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมอินเดีย แต่ความรู้สึกเหล่านี้เป็นเพียงจริยธรรมมวลชนเท่านั้น แต่ในมิติของจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญแล้ว การจะถามคำถามส่วนตัวในที่แจ้งโดยเจ้าตัวก็เต็มใจตอบนั้น เป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้เต็มที่ ศาลให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่รู้สึกคลื่นเหียนกับการเปิดเผยความลับของคนดังผ่านจอโทรทัศน์ว่าให้เปลี่ยนช่องโทรทัศน์เสีย และให้คำแนะนำกับส.ส.ว่าควรไปใส่ใจส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนแทนที่จะไหลตามกระแสเรียกร้องของสังคม

ข้าพเจ้าเห็นด้วย แม้จะจริงอยู่ที่ว่าการเปิดเผยเรื่องลับในที่แจ้ง จะไปรบกวนความสงบสุขของคนที่ “รับไม่ได้” ทำให้นอนไม่หลับ วิงเวียนศีรษะ ซึ่งถือว่าเป็นการไปริดรอนสิทธิการใช้ชีวิตได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ควรลืมว่าคนดูเองก็มีสิทธิเลือกที่จะไม่ดูได้ แทนที่จะทนนั่งดูเรื่อง “รับไม่ได้” ก็เปลี่ยนช่องไปดูเรื่องที่รับได้แทน หรือไม่ก็เลิกดูทีวีไปเลยแบบที่ข้าพเจ้ากำลังทำอยู่ เรื่องนี้สอครับกับแนวคิด Harm Principle ที่กำหนดว่าเราสามารถทำอะไรก็ได้ตราบไม่ริดรอนสิทธิของคนอื่น

แต่คำตัดสินของศาลอินเดียเองก็มีข้อน่ากังขาอยู่ ย้อนไปก่อนหน้านี้ศาลอินเดียเคยมีผลงานเรื่องการตัดสินว่าภาพวาดเปลือยของเทพเจ้าฮินดู ที่วาดโดยศิลปิน M F Hussain ไม่ผิดกฎหมายอาญา เพราะภาพใดจะอนาจารหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสายตาของแต่ละคนเฉกเช่นเดียวกับความงาม ข้าพเจ้าจึงเริ่มสงสัยว่าศาลอินเดียคงเป็นศาลสัมพัทธนิยม (relativism) ที่มองว่าคุณค่าทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับการตัดสินส่วนตัวของแต่ละคนไปหมด ถ้าสมมุติว่าภาพในคดีเป็นภาพถ่ายอนาจารของเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปีกำลังคาบองคชาติของใครอยู่ คำตัดสินที่ว่าความอนาจารเป็นเรื่องของแต่ละคน คงจะฟังไม่เข้าหูสำหรับคนที่มีจริยธรรมมวลชน ข้าพเจ้ามองว่าย่อมมีจุดๆ หนึ่งที่เป็นจุดร่วมระหว่างความชั่ว ความน่าเกลียด ฯลฯ

ถัดจากเรื่องข้อกฎหมายที่สนุกสนาน ข้าพเจ้าขออภิปรายอีกประเด็นที่ว่าด้วยคุณค่าของการพูดความจริง จากกรณีนี้ ทำให้ข้าพเจ้าพิจารณาว่าคนพูดอะไรจริงใจไปหมดทุกเรื่องย่อมเป็นคนที่ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์กับมนุษย์หน้าใดได้ เพราะไม่มีใครที่จะทำอะไรแล้วจะถูกใจทุกคน แล้วก็ไม่มีใครที่จะคิดดีๆ กับคนรอบข้างตลอดเวลา Week แรกของรายการภาคอเมริกัน ภรรยาที่นั่งอยู่ในห้องส่งถึงกับต้องขายหน้ากุมขมับเมื่อสามีบอกว่า ที่ตนไม่อยากมีลูกกับภรรยาคนนี้ด้วยเพราะไม่คิดว่าเขาจะเป็นคู่รักที่ยืนยาว การตอบคำถามนี้อย่างจริงใจทำให้ได้เงิน 100000 ดอลล่าร์ ในเวอร์ชั่นของประเทศโคลัมเบียก็มีปัญหาที่หนักหนากว่าเล็กน้อย เมื่อผู้เข้าแข่งขันยอมรับอย่างจริงใจว่าเคยจ้่างคนมาฆ่าสามีตัวเอง

ในการ์ตูนของปรมาจารย์นักวาดชาวญี่ปุ่นเจ้าของผลงานโดราเอมอนอย่าง Fuji F Fujiko ก็มีเรื่องเล่าที่วนเวียนอยู่กับแนวคิดของความลับและมนุษยสัมพันธ์อยู่ในหลายๆ แห่ง เช่น ในการ์ตูนไซไฟเรื่องหนึ่งที่เด็กนักวาดการ์ตูนมีความสามารถในการฟังจิตคนอื่นได้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเพื่อนนักวาดการ์ตูนร้าวฉานไป หรือในอีกเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ผู้ประดิษฐ์ทีวีย้อนดูอดีตได้สำเร็จ พยายามย้อนดูพฤติกรรมของภรรยาตัวเอง แล้วพบว่าแอบมีสัมพันธ์ชู้สาวกับผู้ช่วยนักวิทยาศาสตร์ และเพื่อปิดบังความลับ ผู้ช่วยจึงทำการสังหารนักวิทยาศาสตร์คนนั้นแล้วเก็บไทม์แมชชีนไว้ไม่เผยแพร่ นอกจากนี้ยังพบเรื่องราวของความลับในอีกหลายต่อหลายตอนในโดราเอมอน แต่เรื่องในท้ายที่สุดก็สรุปออกมาคล้ายกันคือ ช่วยไม่ได้ที่มนุษย์จะมีความลับต่อกัน เพราะมันทำให้มนุษย์อยู่ด้วยกันได้โดยไม่ต้องทะเลาะกันทุกเวลา