โน้ตสั้น: เจตนาคือกรรมจริงหรือไม่

ในภาษาละติน การกระทำที่แสดงออกมาภายนอกจะสะท้อนถึงเจตนาภายใน แต่กับมุมมองทางพุทธศาสนา เจตนาคือกรรม

สองแนวคิดเน้นต่างที่กัน คือ ในสุภาษิตละตินเน้นเรื่องการกระทำ โดยอ้างว่าการกระทำจะบอกถึงเจตนาที่มีอยู่จริง แต่ทางพุทธศาสนาเน้นเรื่องเจตนาก่อน ซึ่งในตัวคำกล่าวอ้าง ไม่ได้บอกว่าเจตนาชี้การกระทำภายนอก นั้นก็ดูเหมือนว่าการกระทำภายนอกจะเป็นอะไรก็ได้ แต่เจตนาจะเป็นองค์ประกอบหลักของกรรมชิ้นนั้น และจะบอกผลของกรรมนั้นด้วย

แต่ความสงสัยก็ยังมีอยู่ว่า การกระทำภายนอกที่มีเจตนาอีกอย่างหนึ่งที่ไม่สอดคล้องกับการกระทำ ท้ายที่สุดแล้วจะถือว่าไม่ใช่กรรม ไม่เกิดผลจริงหรือไม่ เช่น หากพระสงฆ์ถูกผู้ไม่ประสงค์ดีวางยาทำให้เกิดอาการหม้ามืดหลอน และเข้าใจผิดว่าเด็กทารกที่อยู่ในบริเวณนั้นเป็นลูกแตงกวา ทำให้เผลอหักคอเด็กไป เช่นนี้ เจตนาคือการหักแตงกวา แต่การกระทำภายนอกคือหักคอเด็ก หากเจตนาคือกรรม ก็ต้องตีความเหตุการณ์นี้ว่าเป็นกรรมของักแตงกวา ทำให้เกิดผลของการหักแตงกวา แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น ผลของเหตุการณ์นี้ไม่เหมือนกับการหักแตงกวา 


เรื่อยเปื่อย: ปัญญาจารย์ในโอลิมปิก และคอมพิวเตอร์ที่หายไป

– 1 –

เป็นเรื่องน่าแปลกกับเสียงฮือฮาชื่นชม Spice Girls ที่กลับมาแสดงคอนเสิร์ตร่วมกันอีกครั้งในพิธีปิดโอลิมปิก 2012 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่น่าแปลกเพราะเสียงฮือฮานี้ เคยเป็นเสียงด่าทอช่วงปลายยุค 90 ตัดพ้อว่าเพลงสมัยนี้ไม่มีศิลปะ โหวกเหวกโวยวาย ขาดความสัมพันธ์กับการเมือง สังคม เทียบไม่ได้กับเพลงยุค 60, 70 หรือ 80 ที่ดีกว่า  เข้าใจว่านั่นเป็นเพราะเด็กที่ชอบฟังเพลง 90 ในสมัยนั้น โตขึ้นมาจากเดิม 20 ปีในวันนี้ กลายเป็นสุ่มเสียงหลักให้กับโลกแทนคนเก่าๆ  แต่ก็ไม่วายที่เริ่มมีคนด่าว่าเพลงสมัยนี้ (2010 เป็นต้นมา) ดีไม่เท่าเพลงยุค 90 บ้างก็ไปไกลขนาดว่าให้ฟัง N Sync (วงบอยด์แบนด์ต้น 2000 ที่มีผู้ด่ามากมายในช่วงนั้น) ยังดีกว่า Justin Bieber

นึกถึงวลีในพระธรรมปัญญาจารย์ว่า ไม่มีอะไรใหม่ใต้ดวงอาทิตย์ ทุกอย่างย่อมย้อนรอยตัวเอง การตีความเหตุการณ์ที่ผ่านมาของมนุษย์ ช่วยไม่ได้ที่จะต้องอยู่ในกรอบของอารมณ์เวลาที่กำลังอาศัยอยู่ ของที่ล่วงเลยผ่านไปนานแล้วไม่มีใครทำอีก เมื่อมองจากเวลาปัจจุบันย่อมเห็นเป็นของประหลาด น่าสนใจ มากกว่าของที่เห็นทุกเมื่อเชื่อวันในช่วงที่ผู้ตีความกำลังอาศัยอยู่

– 2 –

ถ้าเราหันหลังจากคอมพิวเตอร์ตอนนี้ คอมพิวเตอร์นี้จะยังมีอยู่หรือไม่  ถ้าหากว่ามีคนอ้างว่าทุกสิ่งอย่างที่ไม่มีใครเข้าไปช่วยรับรู้เป็นพยานการมีอยู่ของมัน มันจะหายไปชั่วคราวแล้วปรากฎมาใหม่เมื่อมีใครหันไปมอง ไปจับ หรือสัมผัสรู้เห็นด้วยวิธีอื่นใดเท่านั้น เช่นนี้จะพิสูจน์แย้งข้อวามของเขาได้อย่างไร

คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้คือ วลีว่า “หายไปชั่วคราวเมื่อไม่มีใครไปสัมผัสรู้เห็นด้วยวิธีใด” นั้นเป็นข้อความที่ขัดแย้งในตัวเอง เพราะการจะสรุปว่าของหายไป ต้องเกิดจากการสัมผัสรู้เห็นด้วยวิธีอะไรสักอย่างอยู่แล้ว คือ ต้องมีใครสักคนรู้ว่าของเคยตั้งตรงไหน และมีใครสักคนรู้เพิ่มเติมว่าของไม่ได้ตั้งตรงนั้นตามที่เคยเป็น จึงจะเกิดปรากฎการณ์การหายของสิ่งของได้


ความงามของภูเขา

เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ถามมานานจนน่าเบื่อ คำถามนั้นเริ่มด้วยเหตุการณ์จำลองที่ว่ามีภูเขาลูกหนึ่งในหมู่บ้านที่ชาวประชาไม่เคยเห็นความงามของมันเลยจนเมื่อมีกวีจากต่างถิ่นเขียนบทประพันธ์พรรณนาความงามของภูเขาลูกนั้นจนทุกคนรวมทั้งชาวบ้านเห็นดีเห็นความงามของภูเขาลูกนั้นท้ายที่สุด ตามด้วยข้อขมวดปริศนาคำถามแบบเกมโชว์ว่าภูเขามีความงามในตัวมันอยู่แล้ว หรือมีความงามภายหลังจากมีคนมาชมความงามแล้ว

เคยตอบด้วยคำตอบที่จำไม่ได้แล้ว แต่เมื่อเช้ามีอีกคำตอบหนึ่งที่ไม่ต้องพึ่งพาแอบอิงชื่อนักคิดใดๆ

เริ่มด้วยการสมมุติว่าภูเขาลูกนั้นมีคุณสมบัติที่รวมๆ กันจะถือว่าเป็นความงามอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่คนทั่วไปมองไม่เห็นตั้งแต่แรก เช่นนี้เท่ากับยอมรับว่าความงามเป็นเรื่องที่ต้องฝึก ต้องมีประสบการณ์ก่อน ถึงจะตรวจจับได้ ต้องได้รับการสั่งสอนกันก่อนว่าอะไรแบบไหนที่มีความงาม แต่แล้วสภาพการณ์แบบนี้ก็ขัดแย้งกันสิ่งที่เราเข้าใจกัน เพราะที่เราสนใจความงามก็เพราะมันทำให้เกิดผลลัพธ์คือความน่าพึงใจในประสาทสัมผัสรับรู้ และก็คงเป็นเรื่องแปลกถ้าเราต้องให้คนมาสอนว่าอะไรน่าพึงใจหรือไม่พึงใจ ถ้าสิ่งใดจะมีความงามอยู่ บุคคลย่อมน่าจะรู้ได้เอง

แต่แล้วจะให้เหตุผลอย่างไรกับที่ชาวบ้านหันมาชื่นชมความงามกับภูเขา ภายหลังมีกวีมาเขียนคำชม คำตอบควรจะเป็นว่าการเขียนกวีเป็นการใส่คุณสมบัติความงามให้กับภูเขาลงไปภายหลังนั่นเอง เมื่อมีคุณสมบัติที่เป็นความงามนั้นแล้ว คนจึงหันมาชื่นชมความงามได้

คุณสมบัติของสิ่งของไม่จำเป็นต้องเป็นของที่จับต้องได้ สถานการณ์ที่รายล้อมรอบตัวของนั้นก็ควรจะเป็นคุณสมบัติติดตัวของสิ่งของนั้นๆ ได้ เช่น รองเท้าวิ่งที่เพิ่งซื้อจากห้าง กับ รองเท้าวิ่งคู่เดียวกันที่อูแซง โบลต์เอามาใส่ทีหลังและใช้ทำลายสถิติวิ่ง 100 เมตร เช่นนี้ควรถือว่ารองเท้าวิ่งก่อนอูแซง โบลต์มาใส่ กับหลังอูแซง โบลต์มาใส่นั้นเป็นคนละคู่ แม้ในทางกายภาพ มันเกาะกลุ่มมวลเดิมๆ ของมันหอบผ่านข้ามช่วงเวลาทั้งสองมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมนุษย์จะมีวิธีปฎิบัติต่อสิ่งของนั้นต่างกันในสองช่วงเวลา ทั้งในแง่เรื่องราวประวัติศาสตร์ รวมถึงในแง่การให้มูลค่าในการซื้อขายแลกเปลี่ยน

กรณีนี้ก็เช่นกัน ภูเขาก่อนกวีมาชม กับหลังกวีมาชม คือภูเขาคนละลูก ลูกแรกไม่มีความงาม ลูกที่สองมีความงาม เกิดจากการปะทะกันของความหมายระหว่างชื่อเสียงของตัวกวี ความไพเราะของเสียงกวีที่เป็นตัวแทน โอบกอดกายภาพของภูเขาลูกนั้นไว้ ทำให้ภูเขาลูกนี้มีคุณสมบัติใหม่ที่เรียกว่าความงาม เกิดขึ้นมาภายหลัง ทำให้้เกิดความพึงใจในประสาทสัมผัส

คำตอบนี้แตกต่างจากการตอบว่าเพราะความงามเป็นเรื่องของแต่ละคน ทุกคนอยากจะเห็นความงามในสิ่งไหนก็ได้ ซึ่งฟังดูดีมีลิเบอรั่ลในตอนแรก แต่ท้ายที่สุดก็ไม่รู้จะอธิบายยังไงเมื่อเจอกับข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีใครเห็นความงามในขี้หมา กองขยะ หนองน้ำเน่าหมาลอยตายเลย (ทั้งที่อย่างน้อยก็น่าจะเป็นไปได้ที่ต้องมีคนกลุ่มหนี่งเห็นความงามนั้น)

———————–

หมายเหตุ: บลอกนี้ที่เงียบไปเนื่องจาก ผู้เขียนขณะนี้ทำงานในออฟฟิศแห่งหนึ่งซึ่งกินเวลา 30% ของชีวิตทั้งสัปดาห์ เมื่อรวมกับเวลานอนแล้วก็จะเท่ากับ 60% นั่นหมายความว่ามีเวลาว่างที่จะทำอย่างอื่นได้เพียง 40% ของเวลาทั้งสัปดาห์ จึงทำให้การมาเขียนบลอก อ่านหนังสืออ่านเล่น เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้นจึงต้องขออภัย

การไม่มีเวลาว่างทำสิ่งที่เคยทำนั้น ทำให้รู้สึกแปลกแยกกับตัวเองที่ไม่ค่อยมีความเห็นกับเรื่องราวความเป็นไปในบ้านเมือง ในโลก (ยกเว้นเรื่องธุรกิจหลักทรัพย์) ชัดเจนเหมือนเมื่อก่อน ความหมายของตัวตนเหมือนจะเป็นสิ่งที่เลื่อนออกไปเรื่อยๆ ในแบบเดียวกับที่ดาร์ริด้าเห็นว่าคำในภาษาจะมีความหมายเลื่อนออกไปทุกครั้งที่มีคำใหม่ๆ มาต่อจากมัน เช่นนี้ ทั้งความหมายของตัวตน และความหมายของคำล้วนได้รับผลกระทบจากการเดินหน้าพบปะสิ่งแปลกใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ทั้งสิ้น


หนังสือแห่งจักรวาลของโอคาคุระ

20111210-011252.jpg

หนังสืิอมีชื่อว่า The Book of Tea แต่คงมีแต่บทสองบทเท่านั้น ที่โอคาคุระ ผู้แต่งพูดถึงประเภทของชา ประวัติความเป็นมา วิธีการชง พื้นที่ที่เหลือกลับเป็นเรื่องลัทธิเต๋า สถาปัตยกรรม การจัดดอกไม้ ฯลฯ

อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมชาในญี่ปุ่นนั้นก็คงวงเวียนแต่กับชาเขียว ส่วนความหลากหลายที่จะพูดถึงกันได้ คงเป็นเรื่องรูปแบบของชาว่าเป็นผง เป็นใบสด เป็นแคปซูล หรือเก็บแบบพิเศษอย่างไร อีกเรื่องก็คือปลูกที่ใด ทั้งนี้แตกต่างจากวัฒนธรรมชาของเมืองจีน ที่มีความหลากหลายจนชวนให้เวียนหัวพิศวงแก่ผู้ที่เริ่มสนใจ เช่น ทำไมชาหลายอย่างถูกเรียกรวมว่าอู่หลง? ต้าหงผ่าวต่างจากสุ่ยเซียนอย่างไร? ทำไมข้างซองชามะลิถึงแปะป้ายว่าเป็นชาวเขียว? ทั้งนี้ความพิศวงจะขยายออกไปไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อมาพบกับวัฒนธรรมชาสมัยใหม่ของไต้หวัน ที่จะมาเพิ่มจำนวนคำถามที่ตอบไม่ได้ที่มากอยู่แล้ว ให้มากขึ้น เช่น ต้งติ่งคืออะไร? ดงฟางเหม่ยเหรินคือชาประเภทใด? ชาสี่ฤดูกับทิกวนอิม เหมือนกันหรือไม่?

การดื่มชาของญี่ปุ่น แม้องค์ประกอบสำคัญคือต้องมีชาให้ดื่ม แต่ที่สำคัญมากกว่านั้น คือบรรยากาศที่รายล้อมการดื่ม ที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญในทุกรายละเอียด

คำว่า “ทุกรายละเอียด” ในที่นี้ ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องตัวชา ที่ต้องตระเตรียมโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ

เตาน้ำร้อนก็ต้องมีการจัดเรียงช่องระบายไฟให้เกิดเสียงคล้ายคลื่นทะเล หรือเสียงพายุฝน เมื่อมีการจุดไฟ อุปกรณ์ชาต้องไม่ทำให้เกิดความซ้ำกันในชุด เช่น ถ้วยทรงกลมต้องปะทะกับถาดสี่เหลี่ยม ชามสีฟ้าจับคู่กับกาต่างสี เพื่ิอสะท้อนแนวคิดความอสมมาตรหลากหลายของสรรพสิ่งตามแนวคิดเต๋า ตัวชิ้นงานศิลปะที่ตั้งอยู่บนแท่นโชว์ก็ต้องเลือกสรรอย่างตั้งใจ ว่าจะใช้ดอกไม้หรือภาพวาด หรือถ้าใช้ทั้งสองอย่าง ต้องทำอย่างไรจึงจะน่าสนใจ ดอกไม้ที่ใช้ควรเป็นแบบใด จึงจะไม่ซ้ำกับสภาพความเป็นจริงนอกห้องชา ทั้งนี้ก็อ้างอิงกับหลักการเรื่องความอสมมาตรเช่นเดียวกัน

แม้แต่ตัวขนาดห้องชา ก็ยังต้องควบคุมด้วยหลักการที่ว่า ต้องมีขนาดเล็กเพียง 4 1/2 เสื่อตาตามิ เพื่อให้สอดคล้องกับตำนานครั้งเมื่อพระเจ้าวิกรมาทิตย์อัญเชิญพระมัญชุศรีโพธิสัตว์และเหล่าสาวก 84,000 องค์ เข้าร่วมดื่มชาในห้องขนาดเดียวกันนี้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้หมายถึงเอาร่่างกายเข้าไปจริงๆ เพียงแต่จะสื่อว่าดวงจิตของมนุษย์นั้น แก่นแท้เป็นภาวะว่างเปล่าไม่มีปริมาตร ไม่กินพื้นที่ทางกายภาพและทางจิต บรรยากาศในห้องก็ต้องให้มีแสงน้อย สอดคล้องกับรสนิยมชอบ “เงา” ของชาวตะวันออก

สวนที่เป็นทางเดินไปห้องชาก็ต้องเน้นความเป็นธรรมชาติ สงบสวยงามเป็นสะพานเชื่อมจากโลกภายนอกเข้าสู่โลกอีกใบ

การไปกินชาก็ไม่ใช่ว่าเดินไปขอกินกันง่ายๆ ต้องผ่านพิธีกรรม ปลดวางของอาวุธ ก้มตัวลอดประตูขนาดเล็ก ทำความเคารพกันและกันอย่างเงียบเชียบ ยืดเยื้อ ก่อนจะได้กินชาเขียวชามหนึ่ง

แต่ความน่าสนใจอยู่ที่เหตุผลเบื้องหลังว่าทำไม ต้องลำบากลำบนจัดแจงรายละเอียดยิบย่อยจนลืมไปว่ามากินชาหรือมาศึกษาธรรมะ บำเพ็ญพรต

อันที่จริง การกินชากับการศึกษาธรรมนั้น ก็เป็นเรื่องเดียวกันสำหรับคนญี่ปุ่นจริงๆ วัฒนธรรมนี้สืบทอดมาจากลัทธิเต๋าที่อ้างว่ามีธรรมเนียมเสิร์ฟชาสนทนาธรรมกันในหมู่สาวกมาแต่ดั้งเดิม

ลัทธิเต๋าเชื่อว่าจักรวาลทั้งมวลมีขึ้นจากสิ่งหนึ่งสิ่งเดียว แก่นแท้ของสิ่งนี้คือพลังการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวที่ไม่รู้จบสิ้น

ข้อเท็จจริงนี้ แปลงมาสู่วิถีการปฎิบัติได้หลากหลาย เช่น ถ้าหากธรรมชาติเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่ออยู่แล้ว เราก็ควรให้ความสนใจกับการอยู่กับปัจจุบัน สัมผัสประสบการณ์การมีตัวตนอยู่บนห้วงเวลาที่เลื่อนไหล อย่าเสียเวลามากกับอดีต หรืออนาคต ทีนี้ก็มีเหตุผลดีๆ เพื่อมาอ้างว่าพิธีชงชาควรเงียบงัน สงบเสงี่ยม ชวนให้เกิดสมาธิสติ อยู่กับปัจจุบัน

ไฮเดกเกอร์ผู้ที่อยากหาคำตอบว่าสิ่งต่างๆ “เป็น” สิ่งนั้นๆ ได้อย่างไร ก็ยังต้องมาหาคำตอบจากจิตแบบเต๋าที่สำนึกรู้ต่อเวลาปัจจุบันนี้ แล้วเอาไปตั้งชื่อเองว่า “Dasein” (แปลเป็นอังกฤษว่า being-there)

วิถีการปฎิบัติอีกอย่างที่น่าสนใจคือ ถ้าเชื่อแล้วว่าธรรมชาติเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ เราก็ไม่ควรฝืนหรือสอดแทรกการกระทำที่จะไปรบกวนสมดุลทางธรรมชาติ เป็นต้นแบบของแนวคิด “กระทำโดยไม่กระทำ” เช่น ในการชงมัจฉะซึ่งเป็นชาผงบดด้วยเครื่องโม่จนละเอียด การชงต้องใช้แปรงตีกับน้ำจนผสมเป็นฟองเนื้อเดียวกันนี้ การตีหากวางท่าทางในลักษณะที่ต้องฝืนออกแรง ก็จะไม่สามารถตีได้ละเอียดเท่ากับการวางท่าทางที่เป็นธรรมชาติ ใช้แรงน้อย เป็นต้น ในแวดวงการต่อสู้ก็น่าสนใจ เพราะในแนวทางของเต๋า ผู้ที่ออกแรงมากกว่าจะต้องหมดแรงก่อนผู้ที่ไม่ตอบโต้ และถึงเวลานั้นผู้ที่มีแรงเหลือจึงสามารถเอาชนะได้ ด้วยการต่อสู้น้อยกว่า

The Book of Tea ของโอคาคุระเล่มนี้ อาจจะไม่ให้คำตอบว่าต้องชงชาด้วยน้ำกี่องศาจึงจะหอม หรือควรเลือกกาทรงใดเพื่อใช้กับชาชนิดต่างๆ แต่สิ่งที่ได้กลับน่าสนใจกว่านั้น มันให้ภาพที่ชัดเจนของชาในฐานะเครื่องดื่มทางวัฒนธรรมของชาวตะวันออกที่สำคัญมากกว่าการใช้กินประกอบอาหาร

น้ำเสียงของผู้เขียนที่คอยวิพากษ์วิจารณ์ความตื้นเขินของวัฒนธรรมชาวตะวันตกในหนังสือเล่มนี้ก็น่าสนใจ เนื่องจากโอคาคุระเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษด้วยสำนวนที่ดีมาก เพื่อพูดกับคนตะวันตกโดยตรง พร้อมถือโอกาสระบายความอัดอั้นตันใจที่วัฒนธรรมความเรียบง่ายแบบตะวันออก ถูกดูถูกโดยชาวตะวันตกที่ไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานของความเชื่อ แน่นอนว่าเขาไม่ได้หยิบยก หรืออ้างเหตุผลมาสนับสนุนโต้แย้งอย่างเป็นระบบ แต่ใครจะไปรู้ว่าความเชื่อในเรื่องการโต้แย้งด้วยเหตุผล ในตัวมันเองก็อาจเป็นแค่หนึ่งในอำนาจของความคิดตะวันตกที่ครอบงำตัวเราอยู่ก็เป็นได้

ถ้าข้าพเจ้าจะได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้ ที่ได้มากที่สุดคือความคิดที่ว่า เราควรใช้ประโยชน์จากปรัชญาตะวันออกให้มากกว่านี้ และข้าพเจ้าเองก็ควรเริ่มศึกษาปรัชญาตะวันออกให้มากขึ้นด้วย


Essence ของอริสโตเติล และความว่างของเต๋า

ชีวิตคืออะไร? ความดีคืออะไร? ความรักคืออะไร? คำถามเหล่านี้อยู่ในกลุ่มของการให้นิยามความมีตัวตนของแนวคิด หรือสิ่งต่างๆ ว่ามันเกิดมีขึ้น และคงสภาวะด้วยคุณสมบัติใด ในปรัชญากรีกก็จะแยกว่าในสิ่งหนึ่งๆ จะมีคุณสมบัติ 2 ประเภทคือส่วนที่เป็นแก่นสาร (Essence) ที่เป็นคุณสมบัติที่จำเป็น เพื่อจะให้สิ่งนั้นได้เป็นสิ่งนั้นอย่างแท้จริง เช่น ไม้กระดานตั้งฉากกับพื้น ไม่มีคุณสมบัติใช้นั่ง จึงไม่อาจเรียกว่าเป็นเก้าอี้ได้ เพราะคุณสมบัติของการมีพื้นที่ไว้นั่งได้ เป็นแก่นสารของความเป็นเก้าอี้ ส่วนคุณสมบัติอีกประเภทคือส่วนที่นอกเหนือจากแก่นสาร (Accident) ที่สามารถมีหรือไม่มีก็ได้ โดยไม่กระทบสาระสำคัญ

ทางตะวันตกนั้น การเป็นอยู่ของสิ่งใด ผูกติดกับการมีคุณสมบัติ ตรงข้ามกับแนวคิดตะวันออก ที่เชื่อว่าความเป็นอยู่ของสิ่งใดต้องให้น้ำหนักไปที่การไม่มี

ห้องเกิดจากภาวะของความว่างเปล่าที่ถูกห่อหุ้มด้วยผนัง ฝ้าเพดาน จริงอยู่ว่าตัวห้องอาจเกิดไม่ได้ในทางปฎิบัติถ้าไม่มีผนัง หรือฝ้าเพดาน แต่ความเป็นห้องก็ไม่ได้อยู่ที่ตัวผนังทึบ หรือตัวเพดาน แต่มันอยู่ที่ความว่างเปล่าที่อยู่หว่างกลางวัตถุ

ความว่างเปล่าเป็นคำที่ชวนให้คิดว่าหมายถึงการหยุดเคลื่อนไหว ภาวะไร้ความหมาย ซึ่งชวนให้ไขว้เขวร้ายแรงไปอีกเมื่อชาวตะวันออกเริ่มพูดถึงชีวิตมนุษย์ที่มีความว่างเปล่าเป็นพื้นฐานของการมีตัวตน แล้วชวนให้คิดว่าต่อไปนี้ชีวิตไม่ต้องคิดอะไร ไม่มีความหมาย ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ถูกต้อง เพราะความว่างเปล่าในทางตะวันออก คือการเปิดโอกาสให้ความเคลื่อนไหว ความหมาย หลั่งไหลเข้ามาเติม คุณลักษณะที่ดีของห้องตะวันออก คือห้องว่างที่ใช้สอยได้หลากหลาย ตรงเป้าหมายทุกสถานการณ์ ชีวิตที่ดีของคนตะวันออกคือชีวิตที่ว่างพร้อมเปิดรับผู้คน ความคิดต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา ความว่างเปล่าที่แท้จริงคือจุดเริ่มต้น ไม่ใช่จุดจบแบบที่มักเข้าใจ

นี่เป็นอีกข้อคิดที่ยังไม่ได้ผ่านการวิจารณ์ของข้าพเจ้า แต่กระนั้นก็เป็นเรื่องน่าสนใจมากสำหรับชาวเอเชีย ที่ไม่เคยอ่านงานปรัชญาของชาวเอเชียด้วยกันอย่างจริงจัง อย่างข้าพเจ้า และน่าจะได้เขียนยาวๆ กว่านี้ และใส่ความคิดมากกว่านี้เมื่อข้าพเจ้าได้อ่าน The Book of Tea ของคาคุโซะ โอคาคุระจบ