เรื่อยเปื่อย: ปัญญาจารย์ในโอลิมปิก และคอมพิวเตอร์ที่หายไป

– 1 –

เป็นเรื่องน่าแปลกกับเสียงฮือฮาชื่นชม Spice Girls ที่กลับมาแสดงคอนเสิร์ตร่วมกันอีกครั้งในพิธีปิดโอลิมปิก 2012 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่น่าแปลกเพราะเสียงฮือฮานี้ เคยเป็นเสียงด่าทอช่วงปลายยุค 90 ตัดพ้อว่าเพลงสมัยนี้ไม่มีศิลปะ โหวกเหวกโวยวาย ขาดความสัมพันธ์กับการเมือง สังคม เทียบไม่ได้กับเพลงยุค 60, 70 หรือ 80 ที่ดีกว่า  เข้าใจว่านั่นเป็นเพราะเด็กที่ชอบฟังเพลง 90 ในสมัยนั้น โตขึ้นมาจากเดิม 20 ปีในวันนี้ กลายเป็นสุ่มเสียงหลักให้กับโลกแทนคนเก่าๆ  แต่ก็ไม่วายที่เริ่มมีคนด่าว่าเพลงสมัยนี้ (2010 เป็นต้นมา) ดีไม่เท่าเพลงยุค 90 บ้างก็ไปไกลขนาดว่าให้ฟัง N Sync (วงบอยด์แบนด์ต้น 2000 ที่มีผู้ด่ามากมายในช่วงนั้น) ยังดีกว่า Justin Bieber

นึกถึงวลีในพระธรรมปัญญาจารย์ว่า ไม่มีอะไรใหม่ใต้ดวงอาทิตย์ ทุกอย่างย่อมย้อนรอยตัวเอง การตีความเหตุการณ์ที่ผ่านมาของมนุษย์ ช่วยไม่ได้ที่จะต้องอยู่ในกรอบของอารมณ์เวลาที่กำลังอาศัยอยู่ ของที่ล่วงเลยผ่านไปนานแล้วไม่มีใครทำอีก เมื่อมองจากเวลาปัจจุบันย่อมเห็นเป็นของประหลาด น่าสนใจ มากกว่าของที่เห็นทุกเมื่อเชื่อวันในช่วงที่ผู้ตีความกำลังอาศัยอยู่

– 2 –

ถ้าเราหันหลังจากคอมพิวเตอร์ตอนนี้ คอมพิวเตอร์นี้จะยังมีอยู่หรือไม่  ถ้าหากว่ามีคนอ้างว่าทุกสิ่งอย่างที่ไม่มีใครเข้าไปช่วยรับรู้เป็นพยานการมีอยู่ของมัน มันจะหายไปชั่วคราวแล้วปรากฎมาใหม่เมื่อมีใครหันไปมอง ไปจับ หรือสัมผัสรู้เห็นด้วยวิธีอื่นใดเท่านั้น เช่นนี้จะพิสูจน์แย้งข้อวามของเขาได้อย่างไร

คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้คือ วลีว่า “หายไปชั่วคราวเมื่อไม่มีใครไปสัมผัสรู้เห็นด้วยวิธีใด” นั้นเป็นข้อความที่ขัดแย้งในตัวเอง เพราะการจะสรุปว่าของหายไป ต้องเกิดจากการสัมผัสรู้เห็นด้วยวิธีอะไรสักอย่างอยู่แล้ว คือ ต้องมีใครสักคนรู้ว่าของเคยตั้งตรงไหน และมีใครสักคนรู้เพิ่มเติมว่าของไม่ได้ตั้งตรงนั้นตามที่เคยเป็น จึงจะเกิดปรากฎการณ์การหายของสิ่งของได้


วันพุธที่แปลกแยก: อริสโตเติ้ลเลือกอาชีพ และกรณีผู้บาดเจ็บย่านแม้นศรี

– 1 –
อริสโตเติลเป็นคนหนึ่งที่สนุบสนุนการมีทาส

เหตุผลหนึ่งที่ว่า ถ้าคนเราต้องพะว้าพะวังกับการบ้านงานเรือนทุกคนแล้ว ก็จะไม่มีใครหันมาเข้าร่วมการใช้ชีวิตเป็นพลเมือง ไม่เกิดการค้นหาชีวิตดีๆ ร่วมกันนั้น น่าจะเป็นเหตุผลที่ “ไม่ถูก” สำหรับใครหลายคน แต่นั้นไม่ใช่ทีเด็ดหลักของการสนับสนุนเรื่องทาสของเขา

อริสโตเติลชี้ว่าบทบาทหน้าที่ของมนุษย์ต้องสอดคล้องได้ดีกับธรรมชาติของแต่ละคน บางส่วนเกิดมาเพื่อเป็นพลเมือง บางส่วนเกิดมาเพื่อเป็นผู้ทำงานบ้านงานเรือน นั้นจึงเป็นจุดที่ทำให้เขาชิ่งจากการถูกกล่าวหาว่านิยมอำนาจ การบังคับข่มขู่ได้ เพราะตามตรรกะนี้นั้น การบังคับให้ผู้คนเป็นทาสเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง สาเหตุเพราะไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของแต่ละคน ทาสที่ต้องการหนีจากความเป็นทาสก็ต้องถือว่าขัดกับธรรมชาติของเชาคนนั้นๆ เช่นกัน

ทาสของอริสโตเติลที่เขาสนับสนุน จึงเป็นทาสที่ต้องใจปฎิบัติหน้าที่ดังกล่าว โดยไม่รู้สึกอยากขัดขืน

เหตุผลเช่นนี้มีประโยชน์อย่างมากเมื่อเอามาใช้ในบริบทของการจ้างงานตามความเห็นของศาสตรจารย์ซานเดล ในขณะที่เหล่าเสรีนิยมไม่เห็นความตะขิดตะขวงใจเมื่อมีการจ้างคนไปทำงานซ้ำซากตามสายพานเครื่องจักร โดยได้รับค่าตอบแทนเหมาะสม แต่อริสโตเติ้ลจะชี้ว่าแค่การตกลงระหว่างสองฝ่าย ประกอบกับการมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมนั้นยังไม่พอ ต้องดูเพิ่มว่าคนที่จะทำงานนั้น มีธรรมชาติที่สอดคล้องกับเนื้องานหรือไม่

นักคิดสมัยใหม่มักจะนำเสนอว่าธรรมชาติของมนุษย์คือการมีเสรีภาพ เช่นคำกล่าวว่า “มนุษย์ถูกสาปให้มีจิตเสรี” “การมีชีวิตคือการเลือก” ของชอง ปอล ซาร์ต ซึ่งหากมาอ่านคุ่กับเรื่องธรรมชาติของงานแล้ว ก็จะได้ว่าไม่มีใครที่เหมาะกับงานทาสเลย แต่ถ้าดูให้ดีแล้วจะพบว่า ไม่มีใครเหมาะกับงานใดๆ ในยุคสมัยใหม่เลย เพราะต่างคนต่างต้องให้บริการโน้มน้าวเข้าหาซึ่งกันและกัน เช่น พนักงานบริษัทต้องให้บริการผู้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชาต้องรับใช้ลูกค้าที่บริษัทของตนไปแสวงหาประโยชน์ อาชีพที่เหลือไว้ก็จะมีแต่งานฟรีแลนซ์ เทานั้น ที่ดูจะเหมาะกับจิตวิญญาณที่ถูกสาปให้เสรีของมนุษย์

ในทางปฎิบัติแล้ว คนที่อยากมีงานฟรีแลนซ์ อาจคือคนที่กำลังเป็นทาสอยู่ในขณะนี้ และคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ขณะนี้ ก็อาจจะฝันถึงการเป็นทาสอยู่ในบางห้วงอารมณ์ ทำให้เห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์ก็มีความคลุมเครืออยู่มาก

-2-

ข้าพเจ้าเดินผ่านที่วัดโลหะปราสาท เดินเข้าไปทางแม้นศรีผ่านชุมชนดอกไม่ไฟในวันหนึ่ง พบว่ามีคนกำลังมุงดูเหตุการณ์สองฟากถนน พบว่าเป็นกรณีมีคนเจ็บสาหัส กำลังถูกลำเลียงไปโรงพยาบาลโดยรถกระบะใจบุญ ทุกคนที่อยู่บริเวณนั้นมุงดู ข้าพเจ้ากำลังคิดว่าการกระทำใดที่เหมาะสมที่สุดในสถานการณ์นั้น

1. เข้าไปช่วย: เป็นทางเลือกที่ไม่เหมาะสม เพราะขณะนั้นผู้บาดเจ็บอยู่บนรถกระบะแล้ว กำลังรอแค่คนขับที่กำลังวิ่งจากด้านท้ายไปด้านหน้า

2. ถ่ายรูป: ข้าพเจ้ามีกล้องอยู่ในมือ และกำลังคิดว่าเหตุการณ์นี้เป็นโอกาสภาพ Street ที่มี shot “ลุ้น” แฝงอยู่มาก แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้เลือกทำ เพราะสัญชาตญาณบอกว่าไม่เหมาะสม แต่ก็ให้เหตุผลว่าเพราะเหตุใดจึงไม่เหมาะสม อย่างไรก็ดี สัญชาตญาณเป็นเครื่องมือทางปรัชญาที่สำคัญ ที่มักแจ้งเตือนข้อสรุปที่ถูกต้องก่อนการเข้าถึงข้อสรุปนั้นด้วยเหตุผล จึงขอเลือกเชื่อสัญชาตญาณในกรณีนี้

3. ยืนดู: การยืนดูไม่ทำให้ใครได้ประโยชน์ ข้าพเจ้าเสียเวลาที่ยืมมุงดู ผู้บาดเจ็บก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการยืนดูของข้าพเจ้า

สุดท้ายข้าพเจ้าจึงเลือกเดินฝ่าฝูงชนไปเฉยๆ โดยไม่ทำอะไร


ตัวตน/ที่แท้จริง

เมื่อหลายวันพบบทความที่ว่าด้วย “ตัวตนที่แท้จริง” ในบลอกของ New York Times

เขาพูดถึงปัญหาโลกแตกว่า ถ้าเรายึดมั่นหลักเหตุผลเราจะมีตัวตนอย่างหนึ่ง ถ้ายึดมั่นอารมณ์ความต้องการส่วนตัวก็จะมีตัวตนอีกอย่างหนึ่ง เช่นนี้ตัวตนอย่างใดจะถือว่าเป็นตัวตนที่แท้จริง (true self)

ความเห็นสุดคลาสสิกย่อมชี้ว่าเหตุผลคือแก่นสาระของความเป็นมนุษย์ เพราะเป็นเครื่องมือเดียวที่มนุษย์มีเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตทั่วไป บุคคลิกภายใต้บังคับการของเหตุผลจึงเป็นตัวตนที่แท้จริง ความเห็นที่ใหม่ (แต่ก็ใหม่ไม่มาก) พูดถึงการดำรงอยู่ของจิตใต้สำนึก ที่ควบคุมกิจกรรมอันอยู่นอกเหนือการบังคับในระดับจิตขั้นสูงอย่างการใช้เหตุผล องค์ประกอบนี้สมควรเป็นตัวตนที่แท้จริงมากกว่า

ผู้เขียนนำเสนอว่า จากการทดลองพบว่าตัวตนที่แท้จริง กลับขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละคน ที่จะให้คุณค่าของบุคคลิกลักษณะต่างๆ มากน้อยกันไป คนที่เป็น conservative จะชี้ว่าตัวตนที่แท้จริงคือการขยันทำงานในบริษัท คนที่เป็น liberal กลับเห็นว่าตัวตนที่แท้จริงจะปรากฎเมื่อผันตัวออกไปทำงานสังคมกับหน่วยงานไม่แสวงหากำไร

แต่ถ้านั่นคือตัวตนที่แท้จริงตามความหมายของผู้เขียนแล้ว ก็อาจสรุปได้อีกอย่างหนึ่งว่า ตัวตนที่แท้จริงนั้นไม่มี เพราะความแท้จริงน่าจะเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการให้คุณค่าใดๆ มนุษย์อาจมีตัวตนที่แท้จริงในแบบที่ตนเองไม่ปรารถนาจะเป็น หรือไม่ได้ให้คุณค่าสูงส่งก็ได้ เช่น ให้ความเชื่อมั่นในสิทธิสตรีอย่างแท้จริง แต่ในใจยังมีความต้องการใช้หญิงบริการทุกวันศุกร์อยู่ เป็นต้น

หรือถ้าตัวอย่างนั้นยังอาจเถียงได้ว่าเป็นเรื่องความกลับกลอก ก็ขอยกตัวอย่างใหม่เช่น ผู้ที่มีสมองกระทบกระเทือนและพบว่าตนเองมีความสามารถทางศิลปะมากเป็นพิเศษในชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นต้น

แต่แล้วก็ต้องอธิบายว่าตัวตนแท้จริงที่ผู้เขียนบทความค้นพบจากการทดลองคืออะไรกันแน่

ข้าพเจ้าเดาว่าน่าจะเป็นดินแดนของคำว่า “ตัวตน” ที่ไม่มีคำว่าแท้จริงเฉยๆ

ความเป็นตัวตนเปลี่ยนไปมาได้ตามความเชื่อ ความคิด ประสบการณ์ แต่ตัวตนที่แท้จริงน่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสมองที่บังคับบุคคลิกลักษณะโดยรวม

เป็นไปได้ว่าตัวตนที่แท้จริงอาจส่งผลต่อตัวตนได้ เช่น สมองลักษณะนี้จะทำให้คนมีความคิดอนุรักษนิยมมากกว่าสมองแบบอื่นๆ แต่เพียงข้อเท็จจริงที่ว่ามันส่งผลต่อกันได้ ไม่ได้แปลว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน

ความเชื่อเป็นเรื่องไม่ถาวร ความคิดเป็นของที่ไม่คงทนตลอดไป ถ้าสิ่งนี้คือตัวตนที่แท้จริงจริง ก็ต้องถึงข้อสรุปที่ว่าแท้จริงมนุษย์มีตัวตนคือกายเนื้อที่เปล่ากลวงรอกระแสความคิดไหลผ่านตลอดเวลาเท่านั้น

อ้างอิง: http://opinionator.blogs.nytimes.com/2011/06/05/in-search-of-the-true-self/


Radical Doubt

ถ้ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงในตัวข้าพเจ้าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้มากที่สุด คงตอบว่าเป็นเรื่องความคิด

อาจกล่าวได้ว่าความเชื่อเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่ ลัทธิวิจักษ์วิจารณ์ ทั้งหลายที่ข้าพเจ้าได้ศึกษามานั้น ข้าพเจ้าไม่ได้เชื่อถือหนักแน่นเหมือนดังเก่าแล้ว เนื่องจากเกิดความเห็นว่า ความเห็นที่ดีต้องมาจากเหตุผลที่ตนเองเข้าใจ และมีหลักฐานที่มั่นคง มาจากการตระหนักรู้ด้วยตนเอง มากกว่ามาจากการอ่าน หรือฟังคำบอกเล่าตามบทความต่างๆ

ข้าพเจ้าจึงทำอะไรไม่ได้นอกจากต้องกลับไปหาจุดดั้งเดิมของความเป็นสมัยใหม่ทางปัญญา

ณ จุดนั้นเขาสงสัยกันเสียทุกเรื่อง สงสัยจนถึงขนาดว่าประสบการณ์ ความคิดที่เรามี เราเห็นทุกวันนี้ เราได้พบกับมันจริง หรือเป็นเพียงการหลอกล่อของเหล่าอสูรร้ายส่งสัญญาณบิดเบือนมายังสมองให้หลงระเริงชั่วครู่ แต่เพราะมีตัวความคิดที่สงสัยนั้นเองที่ช่วยเราพ้นจากข้อสรุปนั้นได้

ก็เพราะเรากำลังสงสัย แสดงว่าต้องมีตัวผู้สงสัยที่เป็นที่มาของความคิดนั้นอยู่จริง การมีความคิดสงสัยจึงช่วยยืนยันว่าตัวเรายังมีอยู่จริง นี่คืองานที่ Descartes ทำไว้ให้ และถูกสรุปในวลีว่าฉันคิด ฉันจึงมีอยู่

Descartes ไม่ใช่นักปรัชญาที่ดีที่สุดบนโลกนี้ ข้ออ้างของเขาเกี่ยวกับเรื่องความคิดอันแจ่มชัด กับการมีตัวตนของพระเจ้าเข้าข่าย Circular argument บางเรื่องได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า เป็นเรื่องเหลวไหล โดยเฉพาะเกี่ยวกับการแยกมิติทางจิตและร่างกาย เขานำเสนอว่ามีจุดเชื่อมต่อของโลกทางกายเนื้อ กับกายจิตอยู่ในต่อมพิทูอินเทรี่

แต่อย่างน้อยที่สุด เขาเป็นผู้ริเริ่มขบวนการ Radical Doubt

หลักการคือ ทุกอย่างไม่น่าเชื่อถือ จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์อย่างกระจ่างชัด แม้แต่คำถามว่าเรามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ ยังต้องสงสัยคิดหาคำอธิบายเพิ่มเติมให้วุ่นวาย

ความกระจ่างชัดควรต้องเป็นการเข้าถึงด้วยตนเอง มากกว่ามาจากการรับรู้ข้อโต้แย้งสำเร็จรูป อย่างในเรื่องความมีตัวตนของเรานั้น หากจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ ต้องสัมผัสถึงประสบการณ์ของการมีความคิดด้วยตัวเอง ที่จะทำให้ถึงข้อสรุปเดียวกัน โดยไม่ต้องไล่สายมาตั้งแต่ว่าสมองมีอสูรร้ายมาหลอกหรือไม่ ฯลฯ

และนี่คือข้อเสียของข้าพเจ้าที่อยากปรับปรุง เพราะหลายอย่างที่ข้าพเจ้าเคยเชื่อก็มาจากการอ่านเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เกิดจากการได้ตระหนักรู้ด้วยตนเอง

แต่อย่างน้อยที่สุด ข้าพเจ้ามั่นใจว่าได้ตระหนักรู้เรื่องหนึ่งว่า

ความคิดเป็นสิ่งไม่แน่นอนตายตัว มันเปลี่ยนทุกครั้งที่พบประสบการณ์ใหม่ และไม่มีใครหักห้ามได้

——————-

และแล้วก็ย้ายบลอกสำเร็จ มาสู่บ้านที่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าแล้ว

สำหรับผู้ที่มี iPad ขอให้อ่านเวบนี้จาก iPad เพราะมี theme ที่ออกแบบไว้สำหรับหน้าจอนั้นโดยเฉพาะแล้ว


ข้อความ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2554

สมัยเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าเคยดูแคลนคนทำงานออฟฟิศเสมอว่าทำไมวันๆ ไม่แสวงหาความรู้ใหม่ สนใจเรียนรู้สถานการณ์ของโลก ทำไมสนใจแต่ตัวเอง และคิดไว้เสมอว่าต่อให้ข้าพเจ้าจะทำงานออฟฟิศที่ไหน ก็จะแสวงหาเวลาว่างให้ตัวเองเสมอ

จนเมื่อข้าพเจ้ามาทำงานในออฟฟิศก็พบความยากลำบากในการบริหารเวลาเป็นอย่างยิ่ง วันที่ยาวนาน และการเดินทางไปกลับ ทำให้หมดแรงในตอนกลางคืน แต่ต่อให้มีแรงมาเขียนบทความต่างๆ ก็พบว่าต้องไปนอนหลับกลางวันคาโต๊ะทำงานในตอนเที่ยง นอกจากเวลาที่ไม่พอ ร่างกายก็ยังเป็นข้อจำกัด แต่ไม่ว่าจะมีปัญหาอย่างไร ข้าพเจ้าก็มาเขียนบทความนี้จนได้

ข้าพเจ้าเขียนบทความนี้ เพื่อจะแจ้งว่าบทความนี้คือบทความสุดท้ายที่จะอยู่ในรูปเวบไซต์ ที่มีโฮสเดี่ยวๆ เช่นนี้ และจะย้ายตัวเองไปอยู๋ในสถานที่ที่ให้บริการเผยแพร่บทความฟรีในที่อื่นๆ ที่ไม่ต้องเสียเงินค่าโฮส และค่าโดเมนเนม

สาเหตุที่ข้าพเจ้าตั้งเวบไซตืนี้เมื่อ 3-4 ปีก่อน เนื่องจากในอดีต ผู้ให้บริการเผยแพร่บทความฟรีในเวบ มีจำกัด ถ้ามีจริง ก็ถูกจำกัดด้วยรูปแบบ theme ที่ไม่สวยงาม ใส่รูปภาพไม่ได้ ปรับแต่งใส่ widget บริหาร comment ไม่ได้ ฯลฯ

ข้าพเจ้าไม่รู้ว่านวัตกรรมการอ่าน และการเขียนบนสื่ออินเตอร์เนตก้าวไปไกลอย่างยิ่งแล้ว จนเมื่อข้าพเจ้าได้ซื้อ ipad มาอ่านบทความต่างๆ ในเวบไซต์ รูปลักษณ์การนำเสนอบทความถูกดัดแปลงไปตามโปรแกรม ที่เปิดอ่าน ให้เหมาะกับหน้าจอและสภาพแวดล้อมของมันเอง เปล่าประโยชน์ที่มานั่งใส่หัวใส่กรอบกับบทความธรรมดาๆ ให้เป็นการดึงสายตาไปเปล่าๆ

ข้าพเจ้าเพิ่งรู้ว่าบริการ blog สมัยนี้เชื่อมโยงถึงกันในแง่เนื้อหา การจัดการ การเผยแพร่ จนทำให้การเผยแพร่บทความผ่านตัวบลอกช่องทางเดียวในอดีต ดูจะเป็นเรื่องโบราณไปในทันที (ความโบราณสมัยนี้เข้ามาทักทายกันตั้งแต่ 4 ปีแล้ว)

ตอนนี้กำลังไม่แน่ใจว่าจะย้ายไปในผู้ให้บริการตัวใด สำหรับบทความทั้งหมดในเวบก็ถูก backup ไว้เรียบร้อยหมดแล้ว

สิ่งที่อยากจะขอให้มีในลำดับถัดไปคือเวลา