Justice และศิลปะที่หายไปจากการถกเถียง

ความเป็นธรรมควรถูกประเมินอย่างไร? ตามตำราว่ากันว่ามี 3 รูปแบบ: พิจารณาอรรถประโยชน์สุดท้ายเป็นหลัก, พิจารณาสิทธิ-เสรีภาพเป็นหลัก, พิจารณาธรรมชาติของความดีงามเป็นหลัก

Justice เป็นหนังสือของไมเคิล ซานเด อาจารย์เลกเชอร์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ท และเคยเป็นรีทเลกเชอร์เรอร์ของสถานีวิทยุ BBC Radio 4 ก็พูดถึงแนวคิดสามอย่างข้างต้น แต่สิ่งที่ฉีกแนวจากตำราปรัชญาทั่วไป ก็คงเป็นลีลาการผูกเรื่องที่ใกล้ตัวเข้ากับปรัชญาการเมืองที่ไม่ได้ทำเพื่อยกตัวอย่าง แต่ใช้ทำเพื่อดำเนินเรื่องราว ก่อสร้างข้อถกเถียงทั้งหมด อีกเรื่องที่ฉีกแนวจากตำราคือ มันไม่ใช่หนังสือที่เป็นกลาง จากความคิดสามอย่าง ซานเดลเลือกอย่างสุดท้าย (ทฤษฎีคุณธรรม) ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหายถ้าคำนึงว่าเรื่องที่เขากำลังเขียนถึง เป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงการเลือกข้างไม่ได้

ไม่มีอะไรจะทำให้ได้ชื่นชมหนังสือเล่มที่ดีเล่มหนึ่งนี้ได้อย่างครบถ้วนเท่ากับการอ่านเอง และฉบับภาษาไทยโดยผลงานของอาจารย์สฤณก็กำลังอยู่ในระหว่างการแปล ซึ่งถูกมือ เพราะอาจารย์เป็นคนหนึ่งที่เคยได้นั่งในคลาสของซานเดลที่ฮาร์วาร์ด

ข้าพเจ้าคงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าเขียนความคิดสั้นอันแตกแยกลงท้ายโพส ดังนี้:

1. ทำไมซานเดลเห็นว่าทฤษฎีคุณธรรมเหมาะสมต่อการคิดเรื่องความยุติธรรม

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ซานเดลเห็นว่าไม่ว่าการถกเถียงจะมาทางไหน ท้ายที่สุดย่อมต้องลงท้ายที่ว่าการกระทำนั้นโดยธรรมชาติของมันแล้ว มันมีเพื่ออะไร และการกระทำแบบไหนควรได้รับการยกย่อง

ขอย้อนหลับไปเพื่อไม่ได้สับสน

กลุ่มที่เห็นว่าอรรถประโยชน์นิยมคือวิธีคิดที่ถูกต้อง จะใช้วิธีเชิงปริมาณเข้าแก้ปัญหาทางจริยธรรม เช่น ถ้าเขาเจอคำถามว่า คนไข้โรคใดควรได้รับเงินอุดหนุนการรักษาจากรัฐบาลระหว่างผู้เป็นมะเร็งปอดเพราะสาเหตุจากการสูบบุหรี่ หรือเป็นมะเร็งลำไส้ซึ่งเกิดจากพันธุกรรม ทางแก้ไขคือการวัดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรต่างๆ ที่จะได้รับการเลือกแต่ละทางและยึดเอาทางที่จะทำให้มีมูลค่าอรรถประโยชน์สูงสุด ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นจะทำให้สิทธิของคนอรรถประโยชน์น้อยถูกรังแกโดยหลักคณิตศาสตร์อยู่เรื่อยไป

กลุ่มที่เห็นว่าสิทธิเสรีภาพควรมาก่อนจึงเข้ามาช่วยเหลือ แต่แล้วก็จะพบว่าเพียงข้อเท็จจริงที่ว่าใครมีสิทธิทำอะไร ไม่ได้ตอบคำถามว่าเขาควรได้อย่างนั้น อย่างเรื่องการแต่งงานของเพศเดียวกัน หากพิจารณาเพียงว่ามนุษย์มีสิทธิเท่าเทียมกัน เพศเดียวกันแต่งงานกันได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ขัดเจนว่าแล้วทำไมต้องสนใจเรื่องการแต่งงานตั้งแต่ต้น ทำไมไม่ให้รัฐบาลเลิกการรับรองการแต่งงาน แล้วให้คนไปแต่งงานหมู่ 4-5 คน แต่งงานกับต้นไม้ สิงสาราสัตว์ซึ่งแบบนี้จะสนับสนุนสิทธิเสรีภาพมากกว่า ทำไมร้องขอแต่เพียงว่าให้รัฐบาลรับรองการแต่งงานของเพศเดียวกัน

ท้ายที่สุดจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถามว่าการแต่งงานมีเพื่ออะไร ลักษณะแบบไหนของความรักที่มีคุณค่าเพียงพอที่จะให้รัฐบาลรับรู้ ซึ่งนี้ก็คือทฤษฎีคุณธรรม (Virtue theory) ของอริสโตเติ้ล ที่ระบุว่าทุกคนควรได้ในสิ่งที่คนนั้นๆ ควรได้ โดยให้คำนึงถึงธรรมชาติแก่นแท้ (Essential) ของสรรพสิ่งว่ามีไว้เพื่อเหตุใด ซานเดลชี้ว่าไม่ว่าจะเริ่มเถียงอย่างไรในกรอบสิทธิเสรีภาพ ท้ายที่สุดก็ต้องวกมาหาเรื่องที่ว่า สิ่งนี้ควรเป็นอย่างไร สิ่งนั้นควรเป็นของใคร ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ การวางตัวเป็นกลาง คำนึงแค่ว่าคนนี้มีสิทธิใดโดยละเลยเรื่องความถูกต้องเหมาะสม เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้จริง

2. ทำไมซานเดลสนับสนุนให้คนมีสำนึกชุมชน/สำนึกในชาติ

ทฤษฎีคุณธรรมชวนให้มองเห็นการดำรงอยู่การผู้คนที่อยู่ร่วมวัฒนธรรมเดียวกัน หรือคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้เคียงกัน ตามความเห็นของของซานเดล ที่ดินสาธารณะแปลงนี้ควรเป็นของห้างสรรพสินค้า หรือทำเป็นสวนสาธารณะ คำตอบก็ต้องเริ่มจากที่ดินสาธารณะมีไว้ทำอะไร การใช้งานที่ดินแบบไหนสมควรได้รับการยกย่อง ซึ่งจะเลี่ยงไม่พูดเรื่องชุมชน สังคมไม่ได้

ซานเดลยังหยิบยืมแนวคิดเรื่อง Narrative มาสนับสนุนข้ออ้างข้อนี้ เขามองว่ามนุษย์ดำรงอยู่ใน Narrative หลายๆ อย่างในห้วงชีวิต เช่น Narrative ของการเป็นนักเรียน Narrative ของการเป็นผู้ปกครอง Narrative ของการเป็นคนในชุมชน Narrative ของคนที่อยู่ในชาติ สำนึกทางจริยธรรมควรผูกพันกับ Narrative นั้นๆ ซึ่งเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ เช่น เมื่อคนไทยไปต่างประเทศ Narrative ของความเป็นคนไทยจะเด่นชัดยิ่ง (จะจับกลุ่มทักทายกับคนไทยในที่แห่งนั้น, ช่วยเหลือกันเองมากกว่าไปช่วยคนชาติอื่น ฯลฯ)

ข้าพเจ้าได้กลิ่นว่าแนวคิดนี้เป็นจุดเริ่มที่ดีของการศึกษาบทบาทของภาพยนตร์ กับจริยศาสตร์

3. ทำไมข้าพเจ้าชื่นชอบหนังสือเล่มนี้

ปรัชญาภาคพื้นยุโรป มีลักษณะอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้าสังเกตคือ การขัดขืนต่อสัญชาตญาณ โดยเฉพาะปรัชญาภาคพื้นยุโรปสมัยใหม่ ที่หลายข้ออ้าง ถ้าไม่ได้อ่าน หรือมีพื้นความรู้มาก่อน ก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะคิดขึ้นมาได้เอง เช่น คนไม่มีเพศ, ศีลธรรมเป็นวาทกรรม ฯลฯ แตกต่างจากปรัชญากรีกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรัชญาของอริสโตเติล ที่นอบน้อมเข้าหาสัญชาตญาณของมนุษย์

ยกตัวอย่างเช่น ทำไมเราอยากช่วยเหลือคนไทยในต่างแดนมากกว่าคนต่างชาติ ถ้าเป็นปรัชญาภาคพื้นยุโรปก็จะมองว่าอันนี้มันไม่ถูกตั้งแต่ต้นแล้ว ต้องแก้ไข แต่ปรัชญาของอริสโตเติลเรียกร้องให้สืบค้นว่าทำไมสัญชาตญาณถึงเป็นแบบนี้ จนท้ายที่สุดเราอาจจะพบหลายอย่างที่มีพลังในการอธิบายที่หนักแน่นไม่แพ้กัน เช่นเรื่อง Narrative เป็นต้น ลักษณะนี้สอดคล้องกับแนวคิด Saving the Phenomena ที่กล่าวว่าขอให้เริ่มศึกษาจากสิ่งที่เป็นอยู่ และให้คำอธิบายที่ไม่ขัดแย้งกับสิ่งที่เป็นอยู่ และนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับคนที่เริ่มศึกษาปรัชญาจากปรัชญาภาคพื้นยุโรปก่อน อย่างข้าพเจ้า

4. จะได้อะไรอย่างอื่นอีกจากหนังสือเล่มนี้

ได้รู้ว่าการมี position ในเรื่องนโยบายไม่ใช่เรื่องง่าย เวบบอร์ดหลายแห่งในไทยพูดถึงนโยบายของรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน รวดเร็ว จนเร็วเกินไปในความเห็นข้าพเจ้า ความเร็วทำให้พลาดจุดบกพร่องหลายอย่างที่จะเห็นได้ต่อเมื่อใจเย็น และยิ่งใส่ลีลาโวหารเข้าไป ก็ยิ่งทำให้ข้อถกเถียงคลุมเครือ แกะออกมายาก และไปต่อไม่ได้ และนี่ทำให้การคุยกันเรื่องนโยบาย เรื่องการเมืองในประเทศนี้เป็นเรื่องที่ขาดความน่าสนใจ

หนังสือเล่มนี้ที่กำลังแปลจึงถูกเวลา และจะทำให้รู้ว่านอกจากเรื่องความจงรักภักดี บาปกรรม ชนชั้น ความเท่าเทียมแล้ว ยังมีอะไรอีกมากให้ศึกษาเกี่ยวกับจริยธรรม

และผู้ที่ยังไม่ได้แน่ใจ เชิญชมวิดีโอเลกเชอร์ 20 นาทีที่งาน TED เพื่อลองลิ้มชิมรส


จิตเวชกรรมในเมืองใต้บาดาล

เราจะอ่าน “ขัปปะ” ผลงานของริวโนะสุเกะ อะคุตางาว่าได้อย่างไรบ้าง

ถ้าจะดูเจตนาของผู้ประพันธ์ อะคุตางาว่าพยายามพูดเรื่องส่วนตัวผ่านเสียงของผู้ป่วยทางจิตที่อ้างว่าได้ไปเยือนดินแดนของสัตว์ประหลาดขัปปะ ในดินแดนนั้นคือแบบจำลองโลกส่วนตัวของอะคุตางาว่า ในช่วงเวลา 4 เดือนก่อนที่ผู้ประพันธ์ปลิดชีวิตตัวเอง ในนั้น มีนักธุรกิจที่ไม่แยแสต่อชีวิตของลูกจ้าง และจ้องหาผลประโยชน์ในทุกเรื่องๆ, มีนักปรัชญาหน้าเห่ยผู้คลุกอยู่กับแต่หนังสือ นักคิดที่อะคุตางาว่าศึกษาอยู่ในชีวิตจริง, มีนักบวชที่ไม่เชื่อในศาสนาที่ตนเองสังกัด, มีโลกที่ผู้หญิงไล่จับผู้ชายขัปปะผู้ชายเพื่อไปทำผัว, และมีตัวละครที่น่าจะสะท้อนตัวตนของอะคุตางาว่า คือกวีที่รังเกียจการดูแลครอบครัวขนาดใหญ่ ใช้ชีวิตเสรีแบบไม่พึ่งศาสนา และฆ่าตัวตายเพื่อไปให้พ้นจากความเหนื่อยหน่าย

ถ้าจะอ่านจากสภาพแวดล้อมของสังคมในช่วงการประพันธ์ อะคุตางาว่า มีชีวิตอยู่ในช่วงที่มีบรรยากาศลัทธิทหาร และการล่าอาณานิคมแผ่ขยายไปทั่วประเทศ ทั่งล้นไปยังเพื่อนบ้าน สังคมญี่ปุ่นบางส่วนต่อต้านความรุนแรงทางทหาร แต่กฎหมายควบคุมการแสดงออกทางการเมืองก็สร้างความหวาดกลัวทางวิชาการไปทั่ว ในช่วงนั้นยังมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 90000 คน  “ขัปปะ” จึงเป็นอาการสำแดงของความสับสนในอนาคตของคนญี่ปุ่น สับสนระหว่างความจริงกับจินตนาการ สับสนทางเลือกระหว่างการเรียกร้องสิ่งดั้งเดิมกับการเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่อย่างกล้าหาญ

ขอขยายความอีกนิดหน่อย

เพราะเรื่องในขัปปะ ทั้งหมดเล่าโดยแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยทางจิต และแพทย์ผู้นั้นก็เล่าส่งที่ได้ยินมาจากผู้ป่วยทางจิตมาอีกที ท่วงทำนองการเล่าเรื่องในช่วงที่ผู้่ป่วยทางจิตพูด ก็คล้ายกับภาษาหนังสือเด็ก ซึ่งตามธรรมเนียมการอ่านแล้ว ภาษาหนังสือเด็กเข้าได้ดีกับเรื่องราวจิตนาการเพ้อเจ้อ และมันทำให้เรื่องราวจินตนาการนั้นดูสมจริงยอมรับได้ แต่เมื่อเอาเรื่องทั้งหมดมาต่อกัน ผู้อ่านจะไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์ในเมืองขัปปะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะแพทย์เองก็ไม่ได้อยู่รับรู้เรื่องด้วยตา แต่รับรู้เพียงว่าตอนนี้ผู้เล่าเรื่องเมืองขัปปะกลายเป็นคนเพ้อ ที่จินตนาการว่ามีขัปปะมาเยี่ยมทุกๆ วัน ความสับสนระหว่างเส้นแบ่งความจริงและจินตนาการนี้เอง ที่น่าจะสะท้อนอาการของสังคมญี่ปุ่นที่เกิดเรื่อง ‘ไม่น่าเชื่อ’ ทางการเมืองและภัยธรรมชาติติดๆ กันหลายครั้ง

และยังมองได้อีกแง่ว่า ความไม่แน่ใจของผู้ท่องแดนขัปปะระหว่างการเลือกที่จะอยู่ในแดนขัปปะต่อไป กับอยู่ในโลกแห่งความจริง คือความไม่แน่ใจของสังคมญี่ปุ่นที่จะเลือกอยู่ในสังคมแบบเดิม ที่แม้จะสงบราบเรียบ แต่เต็มไปด้วยนักธุรกิจใจป้ำ ผู้เชื่อถือในวิญญาณ หรือจะอยู่ในระบอบสังคมแบบใหม่ที่จะทำการปฎิรูป (น่าสังเกตว่าอะคุตางาว่าไม่บรรยายสภาพสังคมในโลกแห่งความจริงในเรื่องขัปปะเลย ราวกับว่ามันไร้ความหมายต่อตัวละครหลักและต่อตัวของเขาเอง)

แต่ไม่ว่าจะเลือกอ่านอย่างไร ที่ห้ามลืมพูดถึงคือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ ขัปปะ และของวรรณกรรมเกือบทุกชิ้นของอะคุตางาว่า

เขาสามารถใช้นิยายเพื่อนำพาผู้อ่านเข้าไปสู่ดินแดนที่การรับรู้ทางจิตถูกบิดเบือน มุมมองการเล่าเรื่องขาดความเป็นกลางโดยสิ้นเชิง ประสบการณ์นี้จะชัดขึ้นเมื่อได้อ่านงานที่มีชื่อเสียงของเขาอีกเรื่องที่ชื่อ ราโชมอน ในนิยายเรื่องนั้นผู้เล่าเรื่องแต่ละคนต่างมีส่วนบิดเบือนเหตุการณ์จริงด้วยกันทั้งสิ้น

นิยายของอะุคุตางาว่า จึงเป็นบันทึกความเปราะบาง และความด้อยสามารถของการรับรู้ความจริงของมนุษย์

เป็นอนุสสติเตือนให้รู้ว่ามนุษย์มีศักยภาพน้อยเกินไปที่จะรับรู้ความจริงอย่างครบถ้วน


คิมหันตคดี

ข้าพเจ้าชอบกวีนิพนธ์บทหนึ่งของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นบทสุดท้ายในหนังสือผ่านพบไม่ผูกพัน เป็นเรื่องราวมรณานุสสติ ผ่านฉากของป่าไม้ที่แห้งแล้งในฤดูร้อน

ต้นไม้ที่เหลือแต่กิ่ง เศษใบไม้แห้งทับถม ร่องน้ำแห่งขอด ที่ล้วนแต่เคยมีสีสันมีชีวิตชีวาในฤดูอื่น บัดนี้กลับไร้ความเคลื่อนไหว เหมือนกลายเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคย

แต่อาจารย์เสกสรรค์แย้งว่า แม้แต่ฉากที่ไร้ชีวิตเช่นนี้ ก็ยังมีความงามของมันซ่อนอยู่ และมันจะเผยออกมาเมื่อกล้าที่จะเหยียบย่ำเศษใบไม้ เดินข้ามร่องน้ำแห่งขอดไปอย่างไม่ผูกมัดอาลัยกับสภาพที่สดใสของมันเมื่อครั้งฤดูก่อน

เป็นอุปมาที่เฉียบขาด เงียบงันและสวยงาม

ป่าไม้ในฤดูฝน มีสายน้ำไหล มีพืชเล็กพืชน้อยผุดขึ้น มีนกหลบอยู่ในต้นไม้ ป่าไม้ฤดูหนาว ก็มีดอกไม้ มีสัตว์มากมายมาเยี่ยมเยือน แต่ป่าไม้ฤดูแล้ง ไม่มีสัญญาณแห่งชีวิตใดๆ เหมือนฉากของงานเลี้ยงที่เลิกรา เหมือนฉากของสถานที่ที่คุ้นเคยเต็มไปด้วยกิจกรรมและความคึกคัก กลับถูกทิ้งร้าง

แต่มันไม่ใช่เรื่องที่ควรอาลัยอาวร เหมือนกับที่เราไม่ควรอาลัยที่วัน เดือน ปีผ่านไปตลอดเวลา ป่าในฤดูแล้ง ถึงช่วงหนึ่งก็จะกลับมาสดใสเหมือนฤดูอื่นๆ เช่นเคย เพียงแต่เราไม่มีโอกาสอยู่เฝ้าดูมันเท่านั้น

การจากไปเกิดขึ้นตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา

ตอนนี้ ข้าพเจ้าขอเดินผ่านเศษใบไม้แห้งที่ร่วงโรย สะพานที่ทอดร่องน้ำแห่งขอด ป่าไม้ที่กิ่งก้านไร้ใบ เพื่อไปหลบพักฤดูฝน ณ ที่อื่น


โจรศักดิ์สิทธิ

คาร์ล ยุงค้นพบบุคคลิกต้นแบบของมนุษย์ จากนิทานปรัมปราในอดีต

เรื่องเล่าที่เหมือนงมงาย กลับกลายเป็นที่มา, ร่องรอยของจิตสำนึกร่วมของมวลมนุษยชาติ

ข้าพเจ้าพยายามพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้ด้วยการอ่านนิยายปรับปราของกรีก ว่าด้วยเทพโอลิมปัส และมวลเทพกัญญาบริวารทั้งหลาย และก็ไม่ผิดคาด นิทานที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเหลือเชื่อ อย่างผู้พำนักบนเทือกเขาสูงสุดเสียดฟ้า ถืออัสนีบาตที่พร้อมฟาดลงไปที่ใดก็ได้ หรืออย่างโลกลึกลับใต้พิภพที่เยือกเย็น แต่ท้ายที่สุด มันกลับประจุไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย แต่บ่งชี้ถือลักษณะของมนุษยภาพ รวมถึงคุณลักษณะของธรรมชาติต่างๆ ทั้งในเชิงนามธรรมและรูปธรรม

ข้าพเจ้ายังอ่านหนังสือเล่มนี้ไปไม่ได้เท่าไหร่ จึงยังไม่สามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้อย่างละเอียด

แต่ตอนนี้ ข้าพเจ้ากำลังสนใจจับตาเทพองค์หนึ่งเป็นพิเศษ เป็นเทพในกลุ่ม 12 เทพโอลิมปัส นั่นคือ Hermes

ในหนังสือระบุว่าเป็นเทพเจ้าที่ฉลาดหลักแหลมที่สุดในหมู่ 12 องค์

แต่แล้วผู้ที่ฉลาดที่สุด เขาทำอะไรบ้าง? หนังสือระบุว่า Hermes เริ่มอาชีพลักขโมยตั้งแต่วันแรกที่คลอดออกมา นอกจากนั้น เขายังเป็นเทพแห่งพาณิชยกรรม ทั้งยังเป็นผู้นำสาส์นของเทพเจ้าด้วย

Hermes เป็นตัวละครที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในปกรณัมคดี และนี่ก็ไม่เรื่องบังเอิญที่เทพที่ฉลาดที่สุด-เป็นโจร-เก่งด้านการค้า จะได้รับความสนใจมากที่สุด นี่คือสัญลักษณ์ นี่คือบุคคลิกต้นแบบแห่งยุคสมัยตามความคิดของคาร์ล ยุง

ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ ที่คนโบราณจะให้คนที่ฉลาดที่สุด เป็นโจรที่เก่งในด้านการหลอกล่อ และก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญที่เขากำหนดให้โจร เป็นเทพแห่งการค้า  3 อย่างนี้น่าจะมีความเชื่อมโยงกัน และประกอบสร้างเป็นบุคคลิกต้นแบบอย่างใดอย่างหนึ่งได้

คาร์ล ยุง เรียกบุคคลิกต้นแบบนี้ว่า “Trickster” เป็นต้นแบบของคนที่ฉลาดหลักแหลม หากแต่มีเล่ห์กล ชอบแหกกฎ แก้ไขปัญหาให้พ้นจากภยันตรายด้วยวิธีไม่ธรรมดา บุคคลิกอีกด้านหนึ่งของ Trickster คือเป็นตัวตลกประจำเรื่อง บุคคลิกต้นแบบนี้อาจเทียบเคียงได้กับ Bug Bunny, หมาจิ้งจอกในหนูน้อยหมวกแดง เป็นต้น

ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญที่ Trickster อย่าง Hermes จะถูกกล่าวถึงมากที่สุด มันอาจจะเป็นจิตวิญญาณ หรือบรรยากาศแห่งยุคสมัย มันอาจเป็นคำทำนายจากบรรพชนถึงชะตากรรมในอนาคตของบุคคลิกเช่นนี้

ข้าพเจ้าขออ่านหนัีงสือเล่มนี้ต่อไป เพื่อยืนยันสมมุติฐานดังกล่าว


ห้วงคำนึง

ความคิดห้วงที่หนึ่ง

ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าเตรียมตัวออกไปข้างนอกเพื่อไปพบบุคคลอื่นใด นั้นคือเวลาที่อาการอาเจียนวิงเวียนจะก่อขึ้นในท้อง ก่อนที่พลังแห่งความปั่นป่วนจะแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย ข้าพเจ้าไม่แน่ใจสาเหตุของอาการนี้ จนเมื่อค้นพบว่าแท้ที่จริงข้าพเจ้าคือคนที่กลัวการมีปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ที่เรียกร้องการโต้ตอบกับสิ่งรอบข้าง ความกังวลนั้นมักเหนี่ยวรั้งการโต้ตอบของข้าพเจ้า จนกว่าที่จะกระจ่างแจ้งว่าข้าพเจ้าควรทำอย่างไรในสถานการณ์หนึ่ง สถานการณ์นั้นก็กลับคลี่คลายล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ทุกอย่างที่มั่นใจคือสิ่งที่ล้วนช้าเกินไปทั้งสิ้น การนิ่งเฉยในสถานการณ์ที่ต้องการการโต้ตอบ คือความล้มเหลวแห่งการสื่อสารอย่างแท้จริง และเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นแม้แต่น้อย

ความคิดห้วงที่สอง

อัตชีวประวัติของคาร์ล ยุงทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจิตวิญญาณของวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง ต้องเริ่มจากสังเกตปรากฎการณ์และข้อเท็จจริง และต้องพร้อมน้อมรับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และพยายามหาทางอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ประสบการณ์ที่ว่าต้องรวมถึงเรื่องที่คนทั่วไปมองว่าลี้ลับอย่างปรากฎการณ์ของจิต จิตใจ้สำนึกส่วนรวม ลางสังหรณ์ การสื่อสารกับจิตวิญญาณแห่งบรรพชน การสื่อสารกับผู้วายชนม์ในความฝันด้วย  คาร์ล ยุงเหยียดหยามผู้ที่เพิกเฉยประสบการณ์ที่จริงแท้เหล่านี้ ว่าเป็นสำนักคิดวิตถุนิยมแบบตื้นเขิน ที่จำกัดความคิดของตนให้อยู่แต่เฉพาะชุดภาษา ความเข้าใจที่คุ้นเคยดีอยู่แล้ว

เหนือกว่าระบบเหตุผลที่กำลังควบคุมโลกทางกายภาพ ย่อมมีระบบอีกชุดหนึ่งที่ควบคุมปรากฎการณ์ทางจิตของมนุษย์อยู่ เป็นระบบที่ยังไม่ถูกค้นพบ ทำให้กระจ่างแจ้ง แต่จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วในแวดวงการวิจัย ก็ยืนยันได้ว่าระบบอีกชุดนั้นมีอยู่ แต่การเพิกเฉยข้อเท็จจริง ด้วยความเข้าใจว่าเป็นเรื่องไร้สาระไม่มีมูล พร้อมเรียกร้องขอหลักฐานต่างๆ นานาโดยไม่เริ่มต้นใช้ประสบการณ์ของตัวเองตรวจสอบเลย เช่นนี้ย่อมเป็นอาการของอคติเข้าครอบงำ และห่างไกลจากความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง

ความคิดห้วงที่สาม

ข้าพเจ้าหวังว่าจะได้เขียนบลอกนี้ และในบลอกใหม่ในเวบนิตยสารของฟิ้ว (fuse.in.th) มากขึ้น และเสียใจที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับ facebook มากเกินไปตลอดสิ้นปีที่แล้ว

ความคิดห้วงที่สี่

ต่อไปนี้คือภาพเคลื่อนไหวที่ข้าพเจ้าไม่ได้บันทึกไว้: แม้เป็นเวลากลางคืน แต่หาดทราบแห่งหนึ่งก็กลับสว่างไปด้วยแสงจันทร์ของพระจันทร์เต็มดวง เวลาเกือบเที่ยงคืน การที่หาดแห่งนี้เงียบงันจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ แม้ว่าจะมีกลุ่มคน 2 ถึง 3 กลุ่มอยู่ใกล้เคียงในบริเวณหาดนั้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้บรรยากาศแห่งความเงียบถูกทำลายลงไปได้ แม่จึงเปิดทีวีทางมือถือ ถ่ายทอดรายการนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ เสียงทีวีแทรกไปตามเสียงคลื่นของคืนอันเงียบสงัดและเวิ้งว้าง เสียงนับเริ่มต้นในทีวีตาก 10 จนถึง 1 ทางขวาของหาดมีพลุดวงใหญ่หลายชุดสว่างวาบอยู่ไกลโพ้นโดยไม่ส่งเสียง ทางซ้ายในระยะใกล้มีพลุลูกเล็กชุดหนึ่ง พร้อมกับที่พื้นชายหาดก็เห็นแสงโคมหลากสี ระยะไกลหลังภูเขาก็มีพลุดวงโตชุดหนึ่งที่ไม่ส่งเสียงมาหา และในระยะไกลโพ้นก็มีพลุอีกชุดหนึ่งเช่นกัน ข้าพเจ้าเหมือนอยู่ในหลุมสูญญากาศแห่งการเคลื่อนไหว ณ ช่วงเวลานั้น แต่นั้นยิ่งทำให้พลุทั้ง 4 จุดสวยงามยิ่งขึ้น เพราะมันเป็นการมองพลุ และมองความครื้นเครงจากระยะห่าง โดยไม่เสียไปซึ่งความเงียบและเวิ้งว้างรอบๆ ตัว ข้าพเจ้าเลยไม่รู้สึกสนุกและยึดติดกับบรรยากาศแห่งความคึกคักนั้นมากเกินไป ทั้งยังปล่อยให้ข้าพเจ้าคิดเรื่องราวสัพเพเหระได้อย่างเต็มที่ไม่ถูกรบกวน ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้ที่ทั้งอยู่และไม่อยู่ในการนับถอยหลังสู่วันปีใหม่ปี 2553 ไปพร้อมๆ กัน

และข้าพเจ้าก็หวังว่าจะคงสภาวะการอยู่และไม่อยู่ไปพร้อมๆ กันได้้เช่นนี้ตลอดปี

ขอให้มีความสุขวันปีใหม่นี้ทุกคน