"บนฐานแห่งความเวทนา"

ข่าวดังเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของประเทศสหราชอาณาจักรคงหนีไม่พ้นกรณีการปล่อยตัวเอบเดลบาเซท อาลี อัลแมกกราฮี นักโทษจำคุกตลอดชีวิตในคดีวางระเบิดเครื่องบิน Pan Am ไฟลท์ 103 ระหว่างออกเดินทางจากสนามบินฮีทโทรว ลอนดอน ไปยังสนามบินแคเนดี้ ณ นิวยอร์ค เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 1988 เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 270 คน โทษร้ายแรงเช่นนี้ ทำไมรัฐบาลสกอตแลนด์ซึ่งควบคุมกุมขังอัลแมกกราฮีอยู่ จึงตัดสินใจปล่อยตัวอาชญากรรายนี้ได้ภายหลังจากที่เ้ขารับโทษเพียงแค่ 8 ปี? คำตอบเป็นเรื่องมานุษยธรรม อัลแมกกราฮีตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้ายที่จะทำให้เขามีอายุได้ไม่เกิน 3 เดือน รัฐบาลสกอตแลนด์จึงตัดสินใจว่าไม่มีประโยชน์ที่จะกุมขังคนใกล้ตาย และปล่อยให้เขากลับบ้านที่ลิเบีย ซึ่งสร้างความแค้นฝังหุ่นให้กับชาวอเมริกา ยิ่งเมื่อมีภาพข่าวที่อัลแมกกราฮีได้รับการต้อนรับจากชาวลิเบียเสมือนเป็นฮีโร่กลับประเทศ ก็ยิ่งสร้างความแค้นเคืองยิ่งขึ้น

หากจะให้ประเมินการตัดสินใจของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสกอตแลนด์ครั้งนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าควรเริ่มจากคำถามที่ว่า เรามีจุดประสงค์ของการกุมขังคนกระทำผิดว่าอย่างไร ทัศนคติที่ต่างกันต่อคำถามนี้ ย่อมส่งผลให้การประเมินการตัดสินใจครั้งนี้ต่างกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้เป็นธรรมต่อทั้งรมต. และต่อญาติ และต่ออัลแทกกราฮี ข้าพเจ้าเลือกที่พิจารณาคุณค่าของการตัดสินใจปล่อยตัวจากฐานความคิดทุกแง่มุมของการลงโทษกุมขัง อนึ่ง ข้าพเจ้าจะตัดประเด็นที่ญาติของอัลแมกกราฮียกมาว่า เขาไม่ได้เป็นคนทำผิด มีหลักฐานชิ้นใหม่ที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ฯลฯ เนื่องจากจะทำให้เรื่องยากเกินไป

มุมมองที่ 1 การกุมขังในฐานะของเครื่องมือแก้แค้น

การลงโทษผู้กระทำผิดให้สาสมกับความผิดที่เขากระทำ ไม่ใช่แนวคิดใหม่ทางฑัณทวิทยา เพราะมันมีมานานพร้อมกับการกำเนิดของกฎหมายแล้ว นัยยะของเรื่องนี้ที่เกี่ยวพันกับจิตมนุษย์ก็คือ มันบ่งชี้ว่าเป็นเรื่องปรกติที่มนุษย์ทุกคนมีความแค้นต่อบุคคลที่มาทำไม่ดีด้วย และมันบ่งชี้อีกว่าความสุขของมนุษย์ก็การเห็นผู้ที่มาทำร้ายเดือดร้อนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีใครแย้งว่าพฤติกรรมนี้เป็นพฤติกรรมไม่ดี ทำให้สังคมวุ่นวาย แต่ต้องยอมรับเบื้องต้นว่าสิ่งนี้คืออุบัติการณ์ทางจิตที่เป็นปรกติธรรมดา

จากแง่มุมนี้ ต้องเริ่มจากคำถามว่านักโทษผู้ที่ทำอะไรให้เหล่าผู้เสียชีวิต 270 คนเดือดร้อน? คำตอบที่ชัดเจนอย่างแรกก็คือ ทำให้ตาย แต่การตายของผู้เสียชีวิตทั้ง 270 คน เป็นการตายแบบไม่มีญาติมาดูแล และตายห่าแบบไม่ทันตั้งตัว ซึ่งเป็นรูปแบบมรณกรรมที่น่าสยดสยองสำหรับผู้รักครอบครัว กลับมามองที่การจำคุกตลอดชีวิต ถ้าสมมุติว่ารัฐบาลตัดสินใจไม่ปล่อยอัลแมกกราฮี เขาก็จะตายในคุก การตายในคุกนี้เป็นการตายที่ไม่มีญาติมาดูแลเช่นกัน และการตายในที่ที่ไร้อิสรภาพแห่งการเดินทาง ก็น่าสยดสยองสำหรับคนรักครองครัวไม่แพ้กัน ดังนั้น การจำคุกตลอดชีวิตครั้งนี้ จึงน่าจะสมประโยชน์แห่งการแก้แค้น แต่เมื่อมีการปล่อยตัวให้เขาไปตายที่บ้าน ที่มีญาติๆ รอต้อนรับอย่างวีรบุรุษ ประโยชน์แห่งความแก้แค้นก็จะหายไปหมดสิ้น การตัดสินนี้จึงไม่มีประสิทธิภาพในแง่มุมของการแก้แค้น

มุมมองที่ 2 การกุมขังในฐานะของการป้องกันไม่ให้กระทำผิดซ้ำ

สาเหตุหนึ่งของการจำคุกบุคคลผู้กระทำความผิด นั่นคือทำให้เข็ดหลาบ หรือถ้าเป็นการจำคุกตลอดชีวิตก็คือการไม่ให้บุคคลนั้นออกไปกระทำความผิดซ้ำอีก อันที่จริงก็น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่า เป็นความจริงทุกครั้งหรือไม่ ที่คนทำผิดครั้งนึงแล้ว จะมีโอกาสในการทำความผิดนั้นซ้ำอีกมากกว่าคนที่ไม่เคยทำความผิดอย่างนั้นมาก่อน แต่แม้ว่าจะมีตัวอย่างของคนที่ทำผิดเพราะสภาพการกดทับทางสังคมเป็นตัวเร่งก่ออาชญากรรม เราก็ไม่ควรละเลยตัวอย่างของคนมที่ทำผิดซ้ำซากอย่างตั้งใจซึ่งมีปริมาณไม่แพ้กัน

การปล่อยตัวอัลแมกกราฮี จะทำให้เขาไปกระทำความผิดวางระเบิดอีกครั้งหรือไม่ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ 3 เดือน หรือถ้าจะถามให้ตรงประเด็นคือ ข้อเท็จจริงที่ว่าเขามีชีวิตอยู่ได้แค่ 3 เดือน จึงเป็นตัวสนับสนุนหรือทำให้หมดกำลังใจในการตัดสินใจทำความผิดครั้งต่อไปหรือไม่? หลายคนอาจมองว่าความตายที่กำลังมาถึง จะทำให้คนอยากทำความดีละเว้นความชั่วก็ได้ แต่ข้าพเจ้ามองอีกนัยว่า ความตายยังสามารถเร่งให้ทำความผิดซ้ำได้ เพราะมีปัจจัยด้านความเชื่อ หรือผลประโยชน์ศักดิ์ศรีเข้ามาเกี่ยวข้อง บุคคลอาจชักจูงให้กระทำผิดเพราะเขาเชื่อว่ายังไงก็ต้องตายอยู่ดีอยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรจะเสีย ยิ่งถ้าพิจารณาว่าอัลแมกกราฮีมีอาชีพเป็นหน่วยราชการลับของลิเบียที่ไปเกี่ยวพันกับวงในอันซับซ้อน เกี่ยวกับผลประโยชน์ในการเดินทางอากาศระหว่างประเทศก็ยิ่งน่าสงสัยเพิ่มว่าเขาอาจก่อวินาศกรรมอีกครั้งเพิ่มเติมอีกด้วยทัศนคติที่ว่า “ไม่มีอะไรจะเสีย” ดังนั้น การตัดสินใจนี้จึงไม่มีประสิทธิภาพในแง่มุมการการป้องกันไม่ให้กระทำความผิดซ้ำอีก

มุมมองที่ 3 การกุมขังในฐานะป้องปรามการกระทำผิดซ้ำโดยบุคคลอื่น

การวางโทษที่รุนแรง และการบังคับใช้ให้เห็นจริง ทำให้บุคคลภายนอกมีความหวาดผวาไม่กล้ากระทำความผิดเช่นนั้น มิเช่นนั้นชะตากรรมของตนเองจะตามรอยตัวอย่างอุทธาหรณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้าพเจ้าไม่คิดว่าการปล่อยตัวของอัลแมกกราฮี จะมีผลกระทบต่อระบบฑัณทสถานในประเด็นนี้ เพราะการปล่อยตัวครั้งนี้มีเงื่อนไขพิเศษคือผู้ถูกปล่อยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาย นั่นหมายความว่าถ้าใครหน้าไหนทำผิดอีก และไม่ได้เป็นโรคอะไรร้ายแรงถึงขนาดนั้น ก็จะไม่ได้รับการปล่อยตัวอยู่แล้ว ดังนั้น โดยทั่วไป ตามมุมมองนี้ การปล่อยตัวอัลแมกกราฮีย่อมไม่มีผลอะไรมากนัก เว้นแต่กรณีสุดพิเศษ กล่าวคือ ถ้ามีคนที่อยากกระทำความผิดและทราบว่าตัวเองเป็นโรคร้ายแรงเกินเยียวยาต้องตายในระยะเวลาอันใกล้ เช่นนี้ เขาย่อมมีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมนั้นสูง เพราะ “ไม่มีอะไรจะเสีย” ถูกจับไปก็ปล่อยตัวอยู่ดีด้วยเหตุผลด้านมานุษยธรรม

ดังนั้น การปล่อยตัวครั้งนี้ดูเหมือนจะล้มเหลวในทุกเป้าหมายของการจำคุก เว้นแต่เป้าหมายเดียวที่เหตุการณ์นี้ไม่ได้ไปแตะนั่นคือเป้าหมายแห่งการป้องปรามการกระทำผิดซื้ำโดยผู้อื่น ความล้มเหลวนี้ดูเหมือนจะเป็นจากความลักลั่นที่มีมาแต่ต้น นั่นคือหากเรายึดถือเรื่องมานุษยธรรมต่อนักโทษ เราก็ไม่ควรมีโทษ “จำคุกตลอดชีวิต” มาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะในความหมายของคำว่าจำคุกตลอดชีวิตย่อมแสดงอยู่ในตัวถ้อยคำแล้วว่าหมายถึงจำคุกจนกว่าจะตาย ถ้าเห็นว่าโทษแบบนี้ไร้มานุษยธรรม ก็ควรเอาออกไปตั้งแต่ต้น แล้วทดแทนด้วยโทษ “จำคุกเกือบตลอดชีวิต” หรือ “จำคุกจนกว่าทราบว่าจะตายเมื่อไหร่” แทนเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันทั้งในเป้าหมายของการลงโทษ และเป้าหมายเชิงมานุษยธรรม ข้อน่าสังเกตคือ รัฐบาลสกอตแลนด์ต่อไปนี้ต้องไม่เลือกปฎิบัติในการปล่อยตัวนักโทษจำคุกตลอดชีวิตด้านมนุษยธรรม ถ้าหากพบแน่ชัดว่านักโทษผู้ใดใกล้ตายก็จำเป็นต้องปล่อยตัวทันทีเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน


3 ความเห็น on “"บนฐานแห่งความเวทนา"”

  1. nanoguy พูดว่า:

    เช่นนี้แล้วการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษที่ประพฤติดี หรือเนื่องในโอกาสพิเศษ(เมื่อคนพิเศษบางคนเกิดอยากจะทำบุญ) ถือเป็นความล้มเหลวของการจำคุกด้วยมั้ยเนี่ย เพราะเรื่องความประพฤติดี กลับเนื้อกลับตัว บางทีมันดูเป็นรูปธรรมน้อยกว่าการใกล้ตายซะอีก

  2. mgaston พูดว่า:

    ความจริงก็น่าจะใกล้เคียงกันนะ แต่กรณีมันต่างออกไปหน่อยเพราะอัลแม็กกราฮีเป็นนักโทษอาชกรรมระหว่างประเทศที่มีผู้เดือดร้อนเป็นชาวต่างประเทศหลายร้อยคน ในขณะที่อาชญากรในคุกไทยเป็นอาชกรในท้องที่ หรือถ้าทำผิดกับชาวต่างชาติก็ทำผิดน้อยรายและไม่เป็นข่าวร้ายแรง อีกอย่างคือการประพฤติ ‘ดี’ นั้นแท้ที่จริงก็คือไม่มีประวัติเสียจากการบันทึกนั่นเอง เช่น ไม่เคยเตะต่อยใคร หรือไม่เคยเอายาบ้ามาขายในคุก ทำงานตลอดเวลา ซึ่งคนที่ทำแบบนี้ก็น่าจะมีแนวโน้มกลับตัวกลับใจสูง ต่างจากคนใกล้ตายที่ไม่น่าจะมีแนวโน้มดังกล่าว

  3. pikachan พูดว่า:

    ใช้ความรู้จากการเรียนกฎหมายอาญามาประกอบได้ดีมาก ปรบมือ!!


ส่งความเห็นที่ pikachan ยกเลิกการตอบ