เดินหลงในพิพิธภัณฑ์แสง

อาจจะช้าไปหน่อยสำหรับการเขียนถึง “พิพิธภัณฑ์แสง” เรื่องสั้นในรูปเล่มที่บางเฉียบ โดยกิตติพล สรัคคานนท์ ข้าพเจ้าซื้อมาเมื่องานหนังสือครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านไปต้นปี แต่ด้วยความละเลยและวุ่นวาย ทำให้หนังสือถูกดองทิ้งไว้อย่างน่าสงสารจนเค็มได้ที่จึงหยิบมาอ่านเสร็จไปเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ด้วยความลุ่มลึกและอารมณ์ที่ปรากฎในเรื่องสั้นทั้ง 5 เรื่องในหนังสือเล่มนี้ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึก “จำเป็น” ต้องเขียนถึงนวนิยายชุดนี้ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

ที่ว่าจำเป็นก็เพราะนอกจากรูปแบบการเขียนที่ชวนให้หลงลึกเข้าไปในมิติอันแปลกแยกและโดดเดี่ยวของโลกธรรมดาที่โอบล้อมรัดรอบตัวเรา แบบเดียวกับลีลาในหนังสือเรื่อง “ความน่าจะเป็น” ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกที่ทำให้ข้าพเจ้าเริ่มสนใจอ่านหนังสือแล้ว มันยังบังเอิญซ้อนทับกับจินตภาพเกี่ยวกับชีวิตของข้าพเจ้าได้อย่างเกือบพอดิบพอดี

ตัวละครทุกตัวในเรื่องสั้นล้วนไม่มีชื่อเสียงเรียงนาม  “เขา”, “เธอ” นำหน้าประโยคนับพันที่ปรากฎในเรื่องสั้น ลักษณะการเขียนแบบนี้บอกสาส์น 2 ประการแก่ข้าพเจ้า: 1) ผู้อ่านจะไม่รู้สึกสึกตะขิดตะขวงใจกับการสวมตัวเองเข้าไปอยู่ในมุมมองของ เขา และ เธอ เหล่านั้น เพราะถ้าตั้งชื่อตัวละครว่า คุณมานิตย์, คุณจิตติ หรือคุณปารีณา คนที่ไม่ได้มีชื่อว่ามานิตย์ จิตติ ปารีณา ก็อาจจะไม่อยากเข้ามาร่วมสังฆกรรมกับนวนิยายเรื่องนั้นได้ 2) คำว่า “เขา” และ “เธอ” ยังบอกถึงภาวะไร้ตัวตน ไร้อัตลักษณ์ เขาและเธอเหล่านั้น อาจถูกแทนที่ด้วยคนไทยที่มีหน้าตาธรรมดาดาษดื่นทั่วไป หาเอกลักษณ์อะไรไม่ได้ แบบเดียวกับที่ทุกคนพบบนถนน ในที่ประชุมชน ความไร้ซึ่งอัตลักษณ์คือวิกฤติของการมีชีวิตในฐานะสัตว์ทางการเมืองเลยทีเดียว และนั่นก็คือตัวตนของ เขาและ เธอ ในเรื่องสั้นทั้ง 5 เรื่อง พวกเขาคิดอย่างแปลกแยกและโดดเดี่ยวท่ามกลางชุมชนเมืองและตึกแถว ที่ไร้ความอาลัยต่อชะตากรรมของพวกเขา

เรื่องสั้น “ภาพประกอบ” ซึ่งเป็นเรื่องสั้นอันดับแรกของหนังสือเล่มนี้ บอกเล่าชะตากรรมของ “เขา” ที่เป็นนักวาดภาพเขาวงกตปริศนาที่กำลังเดินทางไปหาบ้านของ “เขา” อีกเขาที่เป็นนักเขียนชื่อดัง ในระหว่างนั้นเขาหลงวนเวียนอยู่ในเขาวงกตแห่งตึกแถว วงเวียน ตรอกซอกซอยที่ไร้เอกลักษณ์ หม่นหมองไปด้วยสีทมึนคล้ำ และไร้ผู้คน

ข้าพเจ้าชื่นชอบท่วงทำนองการเขียนที่แตกต่างไปสำหรับมุมมองของ “เขา” แต่ละเขาที่มาพัวพันกับเหตุการณ์ ในส่วนเรื่องภาคแรกที่เป็นเรื่องของ “เขา” ที่เป็นนักวาดภาพ ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเขาถูกสาธยายจนสิ้นกระบวนความ จนประกอบออกมาเป็นภาพของเมืองหลวงที่เงียบเหงาไร้แก่นสาร เต็มไปด้วยตึกแถว ณ เวลาแดดจ้า ข้าพเจ้านึกถึงตอนเดินคนเดียวกลางถนนในกรุงเทพตอนบ่ายโมง ในวันทำงาน มันเป็นเวลาเงียบงันที่ข้าพเจ้าจะรู้สึกได้ถึงความเวิ้งว้างไร้แก่นสารในตัวตน จนต้องหาเรื่องอย่างอื่นรอบๆ ตัวมาคิดกลบเกลื่อน ณ เวลานั้นเองที่ข้าพเจ้าจะเป็นคนช่างสังเกตเป็นพิเศษ ศาลพระภูมิบนดาดฟ้าตึกแถว ชุมทางสายไฟ กระรอก ฯลฯ อยู่ในความรับรู้ของข้าพเจ้าทั้งหมด อาจจะผิดกันกับ “เขา” อย่างเดียวก็คือ ไม่ได้เดินทางไปหาเศรษฐีนักเขียนที่ไหนให้มาจ่ายเงินค่าภาพประกอบ

กลับมาที่พิพิธภัณฑ์แสงอีกครั้ง ในส่วนเรื่องภาคที่สอง “เขา” ที่เป็นนักเขียนกำลังติดอยู่ในโรงแรม ณ ต่างแดน มีเลขาประจำตัวด้วย มุมมองการเล่าก็แตกต่างจากวิธีในภาคแรกโดยสิ้นเชิง แทนที่จุดสนใจจะเลื่อนลอยไปเรื่อยเหมือนคนอยู่คนเดียวท่ามกลางความสับสนแบบในภาพแรก การเคลื่อนย้ายจุดสนใจของโครงเรื่องในภาคสองกลับทำอย่างมีระเบียบ เช่น เริ่มด้วยการอธิบายความร้อนของห้องเนื่องจากแอร์เสีย, ต่อด้วยการพิจารณาภาพประกอบที่หยิบขึ้นมาอย่างช้าๆ เป็นต้น

ส่วนเนื้อเรื่องภาคสามคงบอกไม่ได้ เพราะจะทำให้เนื้อเรื่องทั้งหมดถูกเปิดเผยจนสิ้นความสนุกไป

เรื่องสั้นที่ชอบอีกอันคือ “รังสีวิทยา” แค่ชื่อฟังดูไม่อบอุ่นเป็นมิตรเสียแล้ว เมื่อมาประกอบกับโครงเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของ “เขา” ที่ทำงานห้องฉายรังสี ณ ชั้นใต้ดินที่มืดทึบของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในช่วงฤดูหนาวที่ทุกคนเตรียมตัวจัดงานปีใหม่ เยือกเย็นกันเข้าไป

ความหนาวเหน็บจากฉากต่างๆ ก็ดูสอดรับกับความหนาวในใจของ “เขา” คนทำงานฉายรังสีเหลืิอเกิน ชายที่ตัดสินใจจะอยู่คนเดียวตลอดชีวิต ท่ามกลางห้องฉายรังสีที่เหี่ยวแห้ง เงียบงัน แบบนี้มันชวนให้หนาวเสียจนต้องหาเสื้อคลุมมาใส่

ฉากที่งานเลี้ยงปีใหม่ที่ทางโรงพยาบาลจัดอย่างง่ายๆ ระหว่างบุคคลากรไม่กี่สิบคน ท่ามกลางบรรยากาศว้าเหว่ที่ทุกคนต่างออกไปฉลองกันที่อื่นนอกโรงพยาบาล ท่ามกลางลมหนาวที่พัดอยู่นอกห้อง เป็นฉากที่แจ่มชัดในจินตนาการของข้าพเจ้ามากที่สุด อาจเป็นเพราะว่าข้าพเจ้าเคยอยู่ในบรรยากาศอย่างนั้นมาแล้ว หรือคาดว่าจะอยู่ในอนาคตก็ไม่อาจทราบได้ รู้อย่างเดียวว่าข้าพเจ้ารู้สึกถึงบรรยากาศนั้นได้ชัดเจนและกว้างไกลกว่าตัวอักษรในเรื่องสั้นเรื่องนี้

ยังมีเรื่องสั้นอีกสามเรื่องที่ข้าพเจ้าไม่ต้องการเขียนจนหมดเพราะจะเสียอรรถรส และจะเมื่อยมือข้าพเจ้า

ผู้สนใจ คาดว่าเล่มนี้ยังขายอยู่ โดยเฉพาะในงานหนังสือที่จะถึงก็น่าจะขายอยู่เหมือนเดิม ราคา 70 บาท


ตัดแปะ #1

“…เขาคิดว่า มันมีความแตกต่างระหว่างความสันโดษกับความเหงา เพราะความเหงามักจะแสดงตัวออกมาในยามที่มีชีวิตอยู่ท่ามกลางคนมากมาย แต่เราไม่สามารถสื่อสาร หรือเป็นส่วนหนึ่งของคนเหล่านั้นได้

ส่วนความสันโดษคือการปลีกตัวเองออกมาจากคนอื่นโดยจงใจ คนสันโดษจะไม่รู้สึกเดียวดายอาลัยอาวร เพราะถึงที่สุดแล้วเขาก็มีตัวเองเป็นเพื่อนพูดคุยแลกเปลี่ยนในทุกๆ เรื่อง บทสนทนาไม่มีวันจบสิ้นนี้เองที่ทำให้ผู้รักความสันโดษทั้งหลายยังคงรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับโลกและคนอื่นๆ ในขณะที่คนเหงานั้นจะรู้สึกแปลกแยกต่อทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งตัวเขาเอง”

กิตติพล สรัคคานนท์, รวมเรื่องสั้น พิพิธภัณฑ์แสง ตอน รังสีวิทยา


หนึ่งร้อยปี (ที่ไม่ผ่านไป) แห่งความแปลกแยก

ก่อนหน้านี้ไม่นาน ครั้งสุดท้ายที่ข้าพเจ้าถูลู่ถูกังอ่านนวนิยายเป็นภาษาอังกฤษจนจบนั้น เป็นเวลานานเท่าใดก็ไม่อาจนับได้ แต่เมื่อไม่กี่ชั่วโมงมานี้ ในที่สุดข้าพเจ้าก็มีโอกาสเริ่มนับเวลาครั้งสุดท้ายที่อ่านนวนิยายภาษาอังกฤษจนจบไใหม่อีกครั้ง นวนิยายเล่มนั้นคือ 100 Years of Solitude ของนักเขียนรางวัลโนเบล Gabriel García Márquez

นวนิยาย 400 กว่าหน้าเล่มนี้ประจุไปด้วยเรื่องราวอันแปลกแยกของในสาแหรกตระกูลบูเอนดิย่า อันเริ่มจากการแต่งงานระหว่างญาติอันผิดประเพณีของโฮเซ่ อาร์คาร์ดิโอ้ บูเอนดิย่ากับเออร์ซูล่า ที่ตามมาด้วยการย้ายถิ่นฐานไปสร้างเมืองใหม่ชื่อว่ามาคอนโดท่ามกลางที่ลุ่มหนอง ชะตากรรมของเมืองคลี่คลายไปพร้อมๆ กับคนในตระกูล ตั้งแต่การแวะมาเยี่ยมเยียนโดยกลุ่มยิปซีที่หอบเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยจากแดนไกลมาล่อตาล่อใจให้คนในตระกูลบูเอนดิย่าเก็บไปศึกษา, การแพร่ระบาดของโรคนอนไม่หลับที่ทำให้ผู้คนต้องแปะป้ายบนสิ่งของต่างๆ กันลืมชื่อเรียก, สงครามระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและเสรีนิยมที่คนในตระกูลเป็นหัวหอกสำคัญในการสู้รบ, ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองที่มาพร้อมกับการลงทุนสวนกล้วยของชาวอเมริกาจนถึงการล่มสลายของตระกูลบูเอนดิย่า ที่เกิดขึ้นพร้อมกับความวินาศของเมืองมาคอนโด

สิ่งแรกที่ทำให้ข้าพเจ้าสัมผัสถึงความแปลกแยกในกลวิธีเล่าเรื่องในนวนิยายนี้ คือการลำดับเวลาของเรื่องราวที่ไม่เป็นไปแบบเส้นตรง เหตุการณ์ที่อยู่หน้าถัดไป อาจเกิดก่อนเหตุการณ์ที่อยู่ในสามสี่หน้าก่อนก็เป็นได้ แม้ว่าเทคนิกดังกล่าวจะทรงประสิทธิภาพต่อการสื่อถึงกระแสของเวลาที่มิได้เดินไปข้างหน้าในอัตราความเร็วเดียวหากแต่บ้างก็ช้าลง เร็วขึ้น หรือไม่ก็ไหลวนย้อนไป แต่สำหรับคนไทยที่กำลังอ่านภาษาอังกฤษอยู่นั้น มันสร้างความลำบากในการเข้าใจเรื่องราวมากยิ่ง

แต่เวลาในเรื่อง มันก็คงไม่สำคัญอะไรนัก เพราะท้ายที่สุด บุตรธิดารุ่นแล้วรุ่นเล่าของตระกูลบูเอนดิย่าก็มีลักษณะ, นิสัยเหมือนๆ กับเหล่าญาติๆ ของตัวเองไม่คนใดก็คนหนึ่ง ราวกับชีวิตของผู้วายชมน์ในตระกูลนี้ท้ายที่สุดก็ถูกยืดออกไปด้วยเหล่าผู้สืบทอดตระกูล นอกจากลักษณะและนิสัยที่เหมือนกัน ชื่อของเหล่าบูเอนดิย่าแต่ละคนก็ยังซ้ำๆ กันอีกด้วย เช่น นาม “ออเรริอาโน่” ที่หากเอาไปตั้งชื่อใครในตระกูล คนๆ นั้นก็ต้องถูกสาปให้หมกหมุ่นอยู่กับการอ่านคัมภีร์จารึกลึกลับโบราณของชาวอินเดีย หมกหมุ่นกับงานหลอมเหล็กหลอมทองในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ประจำบ้าน

เวลาสำหรับนวนิยายนี้ ยังไม่สำคัญด้วยเหตุที่ว่า มันไม่ทำให้ตัวละครเปลี่ยนแปลงจากการเรียนรู้ประสบการณ์ความผิดพลาดในอดีต เวลาผ่านไปโดยทุกอย่างยังย่ำอยู่กับที่ เทคโนโลยีที่เหล่ายิปซีมาแสดงเมื่อ 100 ปีก่อนกับ 100 ปีให้หลัง ก็ยังเหมือนเดิมทุกประการ ความผิดพลาดของการร่วมเพศระหว่างคนในสายเลือดที่มักจะทำให้เกิดลูกนิสัยเดนนรก ก็ไม่มีใครในตระกูลเหลียวแลสนใจ และพยายามจะฝ่าฝืนธรรมเนียมนั้นครั้งแล้วครั้งเล่า ภาพของเมืองมาคอนโดเมื่อเริ่มแรกก่อตั้ง แม้จะผ่านยุคของความเจริญรุ่งเรืองทางธุรกิจ แต่ ณ จุดจบก็กลับกลายเป็นเมืองกลางป่าที่ร้างผู้คนเช่นเดิม

นอกจากนี้ สิ่งที่ตัวนวนิยายสามารถทำให้คนอ่านรู้สึกได้จริงๆ นั่นคือความรู้สึกนึกหวนอดีต หากเราเริ่มอ่านนวนิยายเรื่องนี้จากหน้าแรก และรู้สึกประทับใจกับความคึกคักมีชีวิตชีวาของเมืองมาคอนโดเมื่อเริ่มก่อตั้ง สีสันของวีรกรรมของเหล่าคนในครอบครัวในยุคที่เมืองตกอยู่ในภาวะสงคราม รู้สึกผูกพันกับตัวละครต่างๆ แล้ว พอเราอ่านไปจนถึงเกือบหน้าสุดท้าย ตัวละครที่สร้างสีสันเหล่านี้ก็ล้มหายตายไปทีละคน บ้างก็ย้ายออกไปจากเมือง จนท้ายที่สุดก็เหลือไว้แต่ความอ้างว้างของเมือง และความเสื่อมโทรมของบ้านบูเอนดิย่าที่ผู้สืบตระกูลสองคนสุดท้ายที่เหลืออยู่นั้น ไม่สนใจจะปัดกวาดดูแล เพราะวันๆ ก็เอาแต่พรอดรักกันโดยไม่มีใครรู้ว่าเป็นน้าหลานกัน เราอยากให้ความมีสีสันและชีวิตชีวากลับมาอีก อยากให้ตัวละครเก่าๆ ที่เราคุ้นเคยกลับมาอีก แต่มันเป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าอยู่แล้ว ในบ้านในเมืองย่อมมีคนหน้าใหม่เข้ามา หน้าเก่าออกไป ผลัดกันไปตลอดเวลา

แต่เหนืออื่นใด สิ่งที่สามารถรู้สึกได้จากการเสพนวนิยายเรื่องนี้คือความโดดเดี่ยวที่ยากจะเยียวยาของคนในตระกูลบูเอนดิย่า ความกลัวต่อภาระที่จะมาพร้อมกับความรัก ความใคร่ที่จะมีต่อเฉพาะคนในวงศ์ตระกูล ทำให้เผ่าพันธ์ุนี้ถูกสาปให้อยู่อย่างอ้างว้างและแปลกแยก แม้จะมีสมาชิกในตระกูลที่สร้างชื่อเสียง วีรกรรมความกล้าหาญที่โด่งดังไปทั่วคุ้งแคว แต่ชื่อเสียง เงินทองก็จากไปพร้อมกับกาลเวลา พร้อมกับมิตรภาพชั่วครั้งชั่วคราว วงศ์ตระกูลที่เป็นจุดเริ่มต้นของหลายสิ่งหลายอย่างในหน้าประวัติศาสตร์นี้ จบลงอย่างอ้างว้างไร้ประจักษ์พยานในบ้านที่ปิดตาย เป็นจุดจบที่โหดร้ายที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าเคยประสบพบเจอในโลกวรรณกรรม

นอกจากนี้ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ข้าพเจ้าชอบ 100 Years of Solitude นั่นคือการผสมผสานความจริงและเรื่องที่ไม่น่าจะจริงได้อย่างเนียนสนิทผ่านรูปแบบการเขียนที่เรียกว่าสัจจนิยมมหัศจรรยฺ์ เช่น การปรากฎตัวของผีที่ไม่ทำให้ใครตกใจ หากแต่ทำให้เกิดความรำคาญ เพราะผีคนตายชอบส่งเสียงดังจนทำให้คนเป็นนอนไม่หลับ หรือเหตุการณ์ฝนตก 4 ปี 11 เดือน 2 วัน ที่ทำให้อากาศชื้นจนปลาว่ายเข้ามาในบ้าน แล้วว่ายออกไปทางหน้าต่างได้ เป็นต้น ประเด็นนี้น่าจะเป็นตัวประกายเชื้อเพลิงสำคัญในการอภิปรายเกี่ยวกับโพสต์โมเดิร์นิสม์กับวรรณกรรม

จากการอ่านผลงานที่อัดแน่นด้วยอารมณ์ และประเด็นเชิงวิชาการเล่มนี้ ทำให้ข้าพเจ้าไม่แปลกใจว่านี่คือผลจากการเก็บตัวนาน 11 เดือนของ Marquez ผู้ยอมขายรถทิ้งเลี้ยงครอบครัวในช่วงที่ขาดรายได้จากการเก็บตัว เพียงเพื่อให้ได้หนังสือที่สนุกสนานและสมบูรณ์เล่มนี้

ตอนนี้เวลาตีสี่แล้ว แต่เวลาก็คงไม่สำคัญสำหรับข้าพเจ้าในตอนนี้ เพราะพรุ่งนี้เป็นวันว่างของข้าพเจ้าอยู่ดี 😛