อนุทินความคิดเดือนกุมภา

ปฎิบัตินิยม เป็นความมักง่าย

นั้นเป็นความคิดหนึ่งที่ข้าพเจ้าเคยเชื่ออย่างยิ่งในอดีต

ทำไมเราต้องลดมาตรฐานทางการแสวงหาความจริงให้กับกรอบจำกัดของชีวิตประจำวัน ไม่น่าจะมีเหตุผลอะไรก็สนับสนุนให้เราทำเช่นนั้นได้เลย

นั้นเป็นเหตุผลสนับสนุนความเชื่อในอดีตของข้าพเจ้า

เป็นความคิดขณะที่ข้าพเจ้ายังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย และมีเวลาว่างที่จะอะไรก็ได้มากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน ของทุกๆ วัน

แต่ความคิดของข้าพเจ้าด้านบนก็เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อได้รู้ 2 ข้อเท็จจริง ซึ่งข้อเท็จจริงหนึ่งมาจากการอ่านหนังสือ ข้อเท็จจริงหนึ่งมาจากประสบการณ์

1. ข้อเท็จจริงที่ 1

ประสบการณ์จากชีวิตประจำวันไม่ใช่ของห่างไกลจากปรัชญา แต่ตรงกันข้าม มันเป็นของใกล้เสียยิ่งกว่าใกล้ ความคิดใดที่ขัดแย้งกับประสบการณ์ธรรมดาๆ นี้จะต้องถูกตั้งข้อสงสัย ความสงสัยนี้ไม่ทำให้ความคิดนั้นผิดหรือถูก แต่มันก็ลดความน่าเชื่อถือของความคิดนั้นลงไป เช่น หากอ้างว่าความดี-ความชั่วเป็นเรื่องขึ้นอยู่กับแต่ละคน ทำไมคนส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกว่าต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อของ ทำไมไม่แกล้งขโมยยัดใส่เสื้อใส่กางเกงทุกครั้งที่สบโอกาส ทั้งที่ความดีความชั่วก็ขึ้นอยู่กับนิยามแต่ละคนอยู่แล้ว ถ้าเราอยากได้สินค้าอะไรแม้มีเงิน เราก็สามารถนิยามได้ว่าการขโมยของไม่ใช่ความชั่ว เป้นต้น

ขนบธรรมเนียมทางปรัชญาคือ ใครอ้างความคิดอะไรที่แหวกแนวจากประสบการณ์ที่ชาวบ้านรับรู้ เขาต้องอธิบายเพิ่มอีกว่าที่ผ่านมาคิดกันผิดๆ เพราะอะไร นี่คืออีกตัวอย่างที่แสดงว่าปรัชญาให้ความสำคัญกับประสบการณ์ การรับรู้พื้นๆ มากแค่ไหน

การสงสัยความคิดใดความคิดหนึ่งที่ขัดแย้งกับประสบการณ์ ความคิดเห็นของมวลชน จึงไม่ใช่ปฎิกิริยาที่เป็นอคติต่อการแสวงหาความจริงแต่อย่างใด ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญอีกต่างหาก

2. ข้อเท็จจริงที่ 2

ข้าพเจ้าเพิ่งทำงาน 4 เดือน ไม่ใช่งานที่ทำที่บ้าน พาร์ตไทม์ แต่เป็นงานจริงๆ ที่ต้องเดินทางไป-กลับวันละ 3 ชั่วโมง มีบรรยากาศหลายอย่างในสำนักงานที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องนึกย้อนกลับมาคิดทบทวนความเชื่อดั้งเดิมของข้าพเจ้า

ที่คลาสสิคที่สุดคือความคิดว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะมนุษย์เป็นสัตว์การเมือง ต้องอยู่ในสังคม เป็นความคิดที่ข้าพเจ้าไม่ได้หยิบมาทบทวนตั้งแต่ตอนม.6 แต่หากได้เห็นตารางชีวิตของคนทำงานในสำนักงานจะเข้าใจกระจ่างชัดว่าทำไมมนุษย์ในเมืองไม่สนใจการเมืองในระดับใหญ่ๆ เพราะวันทั้ง 5 วันทำงานมีเรื่องเครียดให้คิดมากพออยู่แล้ว เมื่อหลุดจากห้วงเวลานั้นก็ไม่เหลือแรงจะทำกิจกรรมให้เครียดเพิ่มต่อไปอีก และประกอบกับว่าการเมืองที่กระทบต่อตัวเขาคือการเมืองในระดับองค์กร มากกว่าการเมืองในระดับประเทศ ประสบการณ์ในชีวิตมนุษย์ส่วนหนึ่งจำเป็นต้องเอาไปแย้งกับความเชื่อทางปรัชญาในอดีต เพราะเป็นไปได้ว่าปรัชญาอดีตไม่ได้เตรียมคำตอบให้รูปแบบชีวิตในอีก 100 หรือ 1000 ปีถัดมา

หรือแม้แต่เรื่องไหว้พระ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็แล้วใหญ่ ทั้งที่รู้ดีว่าเป็นสิ่งประกอบสร้างที่มนุษย์สมมุติขึ้นมา ทั้งยังสุ่มเสี่ยงในการถูกใช้เป็นเครื่องมือชักจูงใจ หลอก เอาเปรียบผู้ที่มานับถือ แต่ในบรรยากาศบางอย่างของการทำงาน เรื่องของการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เลี่ยงไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายบ้า ขาดที่พึ่ง ฯลฯ ข้าพเจ้าไม่ได้บอกว่าอยากจะหันไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ข้าพเจ้าเข้าใจว่าถ้าจะมีคนเชื่อเช่นนั้นจริง เขาจะเชื่อด้วยเหตุผลใด

และอีกต่างๆ นานาที่เริ่มทำให้ข้าพเจ้าเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วในภาพรวมนั้นไม่มีใครเลยที่ไม่มีเหตุผล เราแต่ไม่เข้าใจประสบการณ์ชีวิตที่เขาประสบพบเจอเท่านั้น และการมองข้ามจุดนี้เองที่ทำให้การแสวงหาความจริงทางปรัชญาคับแคบและห่างไกลจากความเป็นมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ

ข้าพเจ้าค้นพบว่าช่วงนี้ทำไมข้าพเจ้าเหมือนจะกลายเป็นคนอนุรักษนิยมขึ้นทุกวัน ทำไมชอบประนีประนอมกับสิ่งที่พวกหัวก้าวหน้าไม่คิดที่จะประนีประนอมอย่างเรื่องศีลธรรม ศาสนา ความเชื่อมวลชน ฯลฯ แต่เมื่อคิดอีกทีแล้วก็เป็นเรื่องดีเหมือนกัน เพราะการคิดอยู่แต่ในกรอบลัทธิจะทำให้การวิเคราะห์แคบลงไป

มิเชล ฟูโกต์ไม่กลัวที่จะเปลี่ยนความคิดตัวเองเอาดื้อๆ ต่อหน้าธารกำนัน ข้าพเจ้าก็ไม่กลัว แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่รู้ว่าความนึกคิดของข้าพเจ้าจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด


ปรัชญามด

สุดสัปดาห์เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ข้าพเจ้าเข้าร่วมสัมมนาพนักงานใหม่ของบริษัทแห่งหนึ่ง เนื้อหาแรกที่ได้รับการอบรมคือ’ปรัชญามด’ ใจความสำคัญคือ มดมีความพยายามเกินกว่าตัวมัน และมีความไม่ประมาทในทุกย่างก้าวของชีวิต  สมควรที่จะเอาเยี่ยงอย่าง
แต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าค้นพบปรัชญามดในอีกมิติหนึ่งห้องนอนข้าพเจ้าอยู่เหนือห้องครัวชั้นล่าง ทำให้มีมดเดินทะลุจากห้องครัวไต่ขึ้นเสาในห้องนอนข้าพเจ้าสูงขึ้นไปจนสุดเพดานห้อง เนื่องจากแถวเดินของมดอยู่ห่างจากเตียงและโต๊ะของข้าพเจ้า จึงไม่ได้สนใจอะไร ปล่อยให้มันเดินไปไหนก็ไปไม่มีใครเดือดร้อน

แต่ในคืนวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์กลับพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เนื่องจากมดขึ้นมาเดินเล่นบนโต๊ะและเตียงของข้าพเจ้า ทั้งนี้ยังเล่นไม่ซื่อ กัดขา แขน ข้าพเจ้าในระหว่างนอนหลับ ทำให้ต้องตื่นมาเกากลางดึกหลายครั้ง เช้าวันจันทร์ข้าพเจ้าจึงหยิบชิลล์ท็อกฉีดไปตามทางเดินมดตลอดสาย จนปัจจุบันก็ไม่มีมดมาเดินอีก ทั้งนี้ต้องแลกกับหลายชีวิตที่เสียไป

การกระทำของข้าพเจ้ามีความชอบธรรมหรือไม่?

ในแง่มุมทางพุทธศาสนา การฆ่าสัตว์เป็นการฝ่าฝืนศีล 5 ศีลแปลว่าทางอันเป็นปรกติ เมื่อแปลความหมายจนครบถ้วนก็จะได้ว่า การฆ่าสัตว์นั้นเป็นการกระทำที่แปลกแยก ไม่ปรกติ แต่ความปรกตินั้นก็ยากที่จะหยั่งถึงคุณลักษณะและขอบเขตที่ชัดเจน ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง การปล่อยให้มดเดินมากัดร่างกายตอนนอนหลับ จนไม่เป็นอันพักผ่อน โดยไม่มีมาตรการใดป้องกัน ยอมจำนนแต่โดยดี เช่นนี้ดูเป็นเรื่องไม่ปรกติสำหรับข้าพเจ้า เพราะทำให้สิ่งของขาดประโยชน์ใช้สอยที่แท้จริงไป โดยที่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ทำสิ่งใดผิด

อาจมีคนแย้งได้ว่าข้าพเจ้าผิดเองที่ทำห้องนอนเหนือห้องครัว หรือบางคนอาจพูดได้ไกลกว่านั้นว่าการสร้างชุมชนของมนุษย์ ทำให้เกิดการรุกล้ำที่ของมด ดังนั้น การไม่อดทนต่อผลกรรมนั้น ทั้งยังมารังแกมดอีก เหล่านี้ล้วนเป็นความฉ้อฉลทางจริยธรรมทั้งสิ้น

ขอแก้ตัวว่ามดมีที่สำหรับตัวเองอยู่เสมอในบริเวณดังกล่าว เพราะหลังบ้านข้าพเจ้าคือคูคลองคอนกรีตที่ไส้ในคือดินทรายเหมาะแก่้การทำรังมด และอีกไม่กี่เมตรถัดไปคือเรือกไร่สวนนาที่มดสามารถไปสร้างอาณาจักรบริเวณนั้นได้

ถ้าลองมองกลับกันมดเองก็อาจเป็นฝ่ายผิดที่สร้างอาณาจักร สร้างลูกหลานเยอะเกินไป ในขณะที่ครอบครัวข้าพเจ้ามีลูกคนเดียวคือข้าพเจ้าเอง แต่มดกลับมีหลายครอบครัวไม่วางแผนครอบครัวจนต้องเกิดปัญหาพื้นที่ไม่พอ ต้องแย่งพื้นที่ของมนุษย์ ทำให้ต้องเกิดกรณีน่าสลดดังกล่าว

ข้อแย้งอีกทางหนึ่งคือ มาตรการปราบปรามมด รุนแรงเกินไป แต่ก็ยังเกิดข้อสังสัยว่ามีมาตรการใดที่รุนแรงน้อยกว่านี้ แต่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายคือมดไม่ขึ้นมาบนโต๊ะ เตียงได้

ชอล์กกันมดเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล เพราะมดสามารถไต่ข้ามไปตามรอยแยกของชอล์กได้ด้วยความพยายามของมัน การใช้แอ่งน้ำก็ไม่เหมาะสมเพราะเตียงเป็นฐานไม้ เมื่อโดนน้ำก็จะขึ้นราและบวมเสียหาย วิธีการเจรจาก็ไม่ได้ผลเพราะข้าพเจ้าพยายามเปิดการเจรจากับราชินีมดบนเพดานประมาณ 3 ครั้งในห้วงเวลา 3 วัน โดยไม่ได้รับเสียงตอบรับว่าจะทุเลาความเดือดร้อนใดๆ เลย

มาตรการที่ใช้ได้ ต้องได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ไม่ใช่ว่าเลือกมาตรการที่เบาที่สุดแล้วให้ปล่อยวางเรื่องผลลัพธ์

มาตรการฉีดชิลล์ท้อกซ์จึงเหมาะสมแล้วสำหรับกรณีนี้

นี่คือปรัชญามดในมุมมองของข้าพเจ้า


ศิลปินในฐานะ ‘อาชีพประจำ’?

ใน Theater Blog ของหนังสือพิมพ์ Guardian กำลังคึกคักกับคำถามที่ว่าเราสามารถยึดงานศิลปินละครเวที เป็นอาชีพประจำได้หรือไม่ [ลิงค์]

อยากช่วยเพิ่มความคึกคักอีกแรงหนึ่ง

ก่อนอื่นขอจำกัดความให้ชัดเจนก่อนว่า ไอ้ ‘อาชีพประจำ’ นั้นโดยทั่วไปต้องมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ในระดับที่สามารถสร้างชีวิตของตัวเองตามฐานานุรูปได้ ถ้าได้ค่าตอบแทนเป็นครั้งคราวแต่กลับไม่พอใช้แม้แต่เพื่อสนองปัจจัยพื้นฐานของชีวิต ก็จะเรียกว่าเป็นอาชีพประจำไม่ได้

แค่เริ่มจำกัดความ ‘อาชีพประจำ’ ก็เริ่มมีปัญหาเสียแล้ว เพราะเราจะรู้ได้อย่างไรว่าค่าตอบแทนนั้นเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม? มันขึ้นอยู่กับความคาดหวังของคนประกอบอาชีพนั้นว่าอยากจะมีชีวิตแบบใด คนที่อยากมีรถ 4 คัน บ้านคฤหาสน์ 2 หลัง (ไว้อยู่ 1 หลัง ไว้ตากอากาศอีก 1) จอทีวี 60 นิ้ว 3 จอ บุฟเฟ่ต์โอเรียลเต็ลทุกเที่ยง แบบนี้ แม้แต่งานราชการทั่วไป ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นอาชีพประจำ

ดังนั้น เราจะตอบคำถามข้างบนโดยดูแต่ตัวอาชีพและค่าตอบแทนไม่ได้ ต้องสนใจคนที่เข้ามาประกอบอาชีพนั้นด้วย ว่ามีความคาดหวังอย่างไร

สมมุติว่าอาชีพศิลปินละครเวที ไม่ได้ให้ค่าตอบแทนในระดับที่สนองความคาดหวังในชีวิตของคนบางคน ก็มีความเป็นไปได้ 2 ทางคือ

1. ยังไม่ได้ทำอาชีพนั้นเต็มที่เพียงพอ

ความรักในการงานเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น แต่ไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอสำหรับความสำเร็จ  หากงานใดใช้เวลาทำงาน 3 วันต่อสัปดาห์ แล้วได้อัตราตอบแทนเพียงน้อยนิด บางครั้งก็ต้องเข้าใจว่ามันอาจสมเหตุสมผลแล้ว และบางครั้งก็ต้องมองว่าเป็นโชคดีด้วยซ้ำไป เพราะประเทศนี้ยังมีหลายคนต้องทำงานเต็มสัปดาห์เพื่อค่าตอบแทนในระดับเดียวกับศิลปินที่ทำงาน 3 วันต่อสัปดาห์  ถ้าต้องการค่าตอบแทนที่มากขึ้น วิชาเศรษฐศาสตร์จะแนะนำว่าให้เพิ่มผลิตผลที่ตรงใจผู้ซื้อให้มากขึ้น แปลเป็นการกระทำง่ายๆ คือเพิ่มความตั้งใจ และขยันมากขึ้น เช่น หาทางเพิ่มเวลาทำงานจาก 3 วันเป็น 5-7 วัน ต่อสัปดาห์ เป็นต้น

แต่ถ้าเพิ่มความตั้งใจแล้ว ยังพบว่าค่าตอบแทนไม่เพียงพอกับการคาดหวัง ความเป็นไปได้อีกทาง คือ

2. อาชีพนั้นไม่อาจตอบสนองความต้องการของชีวิตได้

ไม่ใช่ทุกอาชีพที่หากเลือกทำแล้ว จะมีรถหรู บ้านตากอากาศ บ้านกลางดวงจันทร์ เครื่องบินส่วนตัว เพราะมูลค่าของทุกสิ่ง ผันแปรไปตามสถานที่ วัฒนธรรม ช่วงเวลา

งานศิลปะอาจมีมูลค่ามากที่เมืองของคนมีอันจะกินอย่างฝรั่งเศส แต่อาจไร้มูลค่าในประเทศที่ต้องหาเงินทุนจากการเป็นโจรสลัดอย่างโซมาเลีย หรือนักบอลในพรีเมียร์ลีกไทย ก็อาจมีมูลค่าต่อเดือนมากกว่าอาจารย์ที่จุฬาก็ได้ ทั้งหมดไม่ใช่ความผิดของใคร เป็นธรรมชาติของสถานที่และยุคสมัย

หากศิลปินละครเวทีต้องพบภายหลังว่าไม่มีรถหรู บ้านพักตากอากาศสมความตั้งใจ ทั้งที่ทำงานเต็มเวลาแล้ว นี่คือปัญหาที่เกิดจากอาชีพโดยตรง ทางแก้ไขมี 2 ทางคือทำอาชีพ ‘หลัก’ อย่างอื่น เช่น ไปเป็นดาราละครหลังข่าว หรือพิธีกร ไม่เช่นนั้น ก็ลดความคาดหวังลง

ข้าพเจ้าให้คำตอบแบบเด็ดขาดไม่ได้ว่า “เราสามารถยึดอาชีพศิลปินละครเวทีเป็นอาชีพประจำได้หรือไม่?” เพราะมันขึ้นกับว่าคนทำอาชีพนั้นมีความคาดหวังในชีวิตอย่างไร และค่าตอบแทนจากอาชีพนี้จะตอบสนองความคาดหวังได้หรือไม่ ถ้าตอบว่า ‘ไม่ได้’ ความผิดก็อาจไม่ได้อยู่ที่ตัวอาชีพ แต่อาจอยู่ที่ตัวคนที่ยังใช้ความตั้งใจไม่เพียงพอก็ได้


บทความ 120 ตัวอักษร

1. ทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ค ทำให้ข้าพเจ้าในฐานะผู้เขียน ไม่สนใจที่จะสื่อความด้วยการใช้ข้อความยาวมากเกินไป และในฐานะผู้อ่าน ก็ไม่อยากอ่านอะไรยาวๆ

2. ข้อดีสำหรับฝั่งผู้เขียนคือ สามารถสื่อความได้หลากหลายเรื่องราวมากขึ้น โดยไม่ต้องค้นคว้าหาข้อมูลมากนัก กล่าวคือ เจออะไร ก็โพสมันไปอย่างนั้น

3. แต่มันทำให้ผู้อ่านไม่ได้รับประโยชน์มากนัก และในฝั่งผู้เขียนเอง ก็ไม่ได้พัฒนาทักษะการสื่อความที่ถ่ายทอดความซับซ้อนของเรื่องราว

4. นิทเช่เป็นนักปรัชญาที่สนใจการเล่าเนื้อความให้กระชับ 1 บรรทัดของเขาคือ 10 บรรทัดของคนทั่วไป แต่น้อยครั้งที่ข้าพเจ้าจะได้ฝึกเช่นนั้นในทวิต

5. เวลาส่วนใหญ่ เสียไปกับการแปะเนื้อหาจากเวบอื่น พร้อม comment ที่สั้น และจืดชืดไร้เนื้อหา หากกล่าวว่าการเขียนทำให้ความคิดตกตะกอนแล้ว…

6. …การเขียนผ่าน facebook และทวิตเตอร์ ก็ไม่ได้ทำให้ตะกอนความคิดหยุดหมุนไปตามน้ำเลยแม้แต่น้อย เราจำเป็นต้องทบทวนการสื่อความผ่านสื่อต่างๆ

7. รู้จักข้อจำกัด และข้อดีของแต่ละสื่อ สำหรับข้าพเจ้าทวิตเตอร์กับ facebook เหมือนกล้องคอมแพคที่พกพาไปได้ทุกที่ และ blog คือกล้อง dslr ที่…

8. …มีความละเอียด ต้องใช้ความประณีต ภาพจากกล้อง compact จะปลุกความอยากรู้ในระยะสั้น ภาพจากกล้อง dslr จะสยบความสงสัย และเปิดประเด็นระยะยาว

9. หากให้ความสำคัญแต่ twitter และ facebook ผู้อ่านจะได้แต่ความฉาบฉวย และความสงสัยที่ไม่มีวันจบ แต่ถ้าให้ความสำคัญแต่ blog เราจะพลาดโอกาส…

10. …ที่จะเปิดแนวหน้าการสำรวจความคิดให้กว้างขวางขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่นักเขียนยุคปัจจุบันต้องหาจุดสมดุลระหว่างสองสื่อ

11. ขอต้อนรับสู่ปีที่ 4 ของ Idea Warroom ที่เปลี่ยนชื่อเป็น “สวน.ความคิด” เพื่อแก้ปัญหาสระลอยของฟ้อนต์ 😛

ป.ล. ช่วงนี้หน้าตาเวบจะไม่เข้าที่ ขอเวลาช่วงหนึ่งเพื่อปรับปรุง


โจรศักดิ์สิทธิ

คาร์ล ยุงค้นพบบุคคลิกต้นแบบของมนุษย์ จากนิทานปรัมปราในอดีต

เรื่องเล่าที่เหมือนงมงาย กลับกลายเป็นที่มา, ร่องรอยของจิตสำนึกร่วมของมวลมนุษยชาติ

ข้าพเจ้าพยายามพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้ด้วยการอ่านนิยายปรับปราของกรีก ว่าด้วยเทพโอลิมปัส และมวลเทพกัญญาบริวารทั้งหลาย และก็ไม่ผิดคาด นิทานที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเหลือเชื่อ อย่างผู้พำนักบนเทือกเขาสูงสุดเสียดฟ้า ถืออัสนีบาตที่พร้อมฟาดลงไปที่ใดก็ได้ หรืออย่างโลกลึกลับใต้พิภพที่เยือกเย็น แต่ท้ายที่สุด มันกลับประจุไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย แต่บ่งชี้ถือลักษณะของมนุษยภาพ รวมถึงคุณลักษณะของธรรมชาติต่างๆ ทั้งในเชิงนามธรรมและรูปธรรม

ข้าพเจ้ายังอ่านหนังสือเล่มนี้ไปไม่ได้เท่าไหร่ จึงยังไม่สามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้อย่างละเอียด

แต่ตอนนี้ ข้าพเจ้ากำลังสนใจจับตาเทพองค์หนึ่งเป็นพิเศษ เป็นเทพในกลุ่ม 12 เทพโอลิมปัส นั่นคือ Hermes

ในหนังสือระบุว่าเป็นเทพเจ้าที่ฉลาดหลักแหลมที่สุดในหมู่ 12 องค์

แต่แล้วผู้ที่ฉลาดที่สุด เขาทำอะไรบ้าง? หนังสือระบุว่า Hermes เริ่มอาชีพลักขโมยตั้งแต่วันแรกที่คลอดออกมา นอกจากนั้น เขายังเป็นเทพแห่งพาณิชยกรรม ทั้งยังเป็นผู้นำสาส์นของเทพเจ้าด้วย

Hermes เป็นตัวละครที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในปกรณัมคดี และนี่ก็ไม่เรื่องบังเอิญที่เทพที่ฉลาดที่สุด-เป็นโจร-เก่งด้านการค้า จะได้รับความสนใจมากที่สุด นี่คือสัญลักษณ์ นี่คือบุคคลิกต้นแบบแห่งยุคสมัยตามความคิดของคาร์ล ยุง

ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ ที่คนโบราณจะให้คนที่ฉลาดที่สุด เป็นโจรที่เก่งในด้านการหลอกล่อ และก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญที่เขากำหนดให้โจร เป็นเทพแห่งการค้า  3 อย่างนี้น่าจะมีความเชื่อมโยงกัน และประกอบสร้างเป็นบุคคลิกต้นแบบอย่างใดอย่างหนึ่งได้

คาร์ล ยุง เรียกบุคคลิกต้นแบบนี้ว่า “Trickster” เป็นต้นแบบของคนที่ฉลาดหลักแหลม หากแต่มีเล่ห์กล ชอบแหกกฎ แก้ไขปัญหาให้พ้นจากภยันตรายด้วยวิธีไม่ธรรมดา บุคคลิกอีกด้านหนึ่งของ Trickster คือเป็นตัวตลกประจำเรื่อง บุคคลิกต้นแบบนี้อาจเทียบเคียงได้กับ Bug Bunny, หมาจิ้งจอกในหนูน้อยหมวกแดง เป็นต้น

ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญที่ Trickster อย่าง Hermes จะถูกกล่าวถึงมากที่สุด มันอาจจะเป็นจิตวิญญาณ หรือบรรยากาศแห่งยุคสมัย มันอาจเป็นคำทำนายจากบรรพชนถึงชะตากรรมในอนาคตของบุคคลิกเช่นนี้

ข้าพเจ้าขออ่านหนัีงสือเล่มนี้ต่อไป เพื่อยืนยันสมมุติฐานดังกล่าว